7 เรื่องเข้าใจผิดของ Social Media (ตอนจบ)
มาอัพเดทต่อเนื่อง กับ 7 เรื่องเข้าใจผิดของ Social Media ซึ่งในตอนที่แล้วผมได้แนะนำและพาทุกท่านไปทำความเข้าใจกับ 3 ประเด็นที่มักเข้าใจผิดแล้วนะครับว่า Social Media ไม่ได้เป็นแค่กระแส ไม่ใช่แค่ของเล่นวัยรุ่น และถ้าใช้ทำการตลาดแล้ว ก็สามารถวัดผลได้จริงๆ
(สำหรับท่านที่พลาดไป สามารถอ่านบทความ 7 เรื่องเข้าใจผิดของ Social Media ตอนที่ 1 ย้อนหลัง คลิกที่นี่ ครับ)
สำหรับอีก 4 เรื่องที่คนส่วนใหญ่อาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้ Social Media จะมีประเด็นใดบ้างนั้น ไปติดตามกันเลยครับ
7 เรื่องเข้าใจผิดของ Social Media (ตอนจบ)
4. Social Media...ไม่จำเป็นสำหรับธุรกิจ
บางท่านอาจมีความคิดว่า ธุรกิจของตนไม่เหมาะสม หรือไม่จำเป็นต้องใช้ Social Media ก็ได้ เช่น ธุรกิจประเภท B2B หรือธุรกิจแบบค้าส่ง เพราะอาจไม่ได้ผลเหมือนกับการหาลูกค้าผ่านช่องทางดั้งเดิมอย่าง โทรศัพท์
แต่ในความเป็นจริง ธุรกิจทุกประเภทควรลงทะเบียนแสดงตัวตนใน Social Media ครับ เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจได้ติดต่อกับกลุ่มคนที่หลากหลาย ไม่ใช่เฉพาะผู้บริโภค แต่รวมถึงแบรนด์ และธุรกิจอื่นๆ ด้วย ซึ่งจากผู้ใช้ทั้งหมดนี้ อาจมีบางส่วนที่เป็นลูกค้าของคุณ ที่สำคัญที่สุด คือ การใช้ Social Media รักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าได้
สำหรับท่านที่กังวลว่า เมื่อใช้ Social Media แล้ว จะมีผู้บริโภคหรือผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามาโพสต์หรือพูดถึงธุรกิจในแง่ลบ ผมอยากให้ลองมองอีกมุมว่า แม้ธุรกิจไม่ได้ใช้ Social Media แต่ถ้าดำเนินธุรกิจโดยไม่มีธรรมาภิบาล คนก็จะใช้ Social Media พูดเกี่ยวกับธุรกิจของคุณในเชิงลบได้เช่นกัน ดังนั้น จึงไม่ควรนำเหตุผลเหล่านี้ มาปิดกั้นการสร้างตัวตนบนสังคมออนไลน์ และควรใส่ใจฟังเสียงของลูกค้าในช่องทางนี้อย่างสม่ำเสมอ เมื่อเกิดเหตุวิกฤติเกี่ยวกับธุรกิจ จะได้บริหารจัดการได้ทันท่วงทีครับ
5. Social Media...ใหม่ไป เข้าใจยาก
ผู้ประกอบการบางท่าน อาจรู้สึกไม่คุ้นชิน ด้วยคิดว่า Social Media เป็นสิ่งซับซ้อนเกินไป เข้าใจยาก จึงไม่อยากเสี่ยงนำมาใช้เพื่อดำเนินธุรกิจ
แต่จริงๆ แล้วเป็นการระวังความเสี่ยงที่ไม่ตรงจุดเลยครับ เนื่องจาก Social Media เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ถูกออกแบบให้ใช้งานง่าย และอัพเดทรูปแบบการทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ของผู้ใช้อยู่เสมอ และยังช่วยให้ผู้ประกอบการสื่อสารกับลูกค้าธุรกิจได้ง่ายขึ้น โดยยังคงมีสิ่งที่เป็นรากฐานสำคัญคือ การสื่อสารระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภค และ การสื่อสารระหว่างผู้บริโภคด้วยกันเองแบบปากต่อปาก ซึ่งเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นพฤติกรรมการสื่อสารของมนุษย์ที่มีมานานแล้ว
อยากให้คุณลองนึกภาพสังคมเกษตรกรรม ที่มีตลาดสด พ่อค้าแม่ขายก็เรียกหาลูกค้าให้มาซื้อสินค้า เมื่อลูกค้าใช้สินค้าแล้วดี ก็จะช่วยกันบอกต่อคนในตลาด บอกต่อกันไปเรื่อยๆ จนรู้กันทั้งหมู่บ้าน บางครั้ง สินค้าไหนใช้ดี คนอีกหมู่บ้านยังรู้ ซึ่งพฤติกรรมนี้ เราเรียกว่า การทำการตลาดแบบปากต่อปาก (Word-of-Mouth) และในวันนี้ แม้จะมี Facebook แต่เราก็จะเห็นได้ว่า ลูกค้าก็ยังคงบอกต่อเกี่ยวกับประสบการณ์การใช้สินค้าของพวกเขาให้ผู้อื่นรับรู้อยู่เหมือนเดิม จึงเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า Social Media ไม่ใช่ของใหม่เกินไป และไม่ได้ยากที่จะเข้าใจเลยครับ
6. Social Media...สิ้นเปลืองต้นทุน และเวลา
ความเข้าใจผิดต่อมา คือ เรื่องของต้นทุนในการใช้งาน และความกังวลเรื่องสิ้นเปลืองเวลานะครับ ซึ่งจริงๆแล้ว ถ้าได้ลองศึกษาและใช้ Social Media อย่างถูกวิธี ก็จะพบว่า เครื่องมือนี้ เป็นนวัตกรรมที่ช่วยลดต้นทุน ประหยัดเวลา และเพิ่มโอกาสในการทำกำไรให้ธุรกิจท่านได้ครับ
ตัวอย่างเช่น การทำโฆษณาสินค้าบนเว็บไซต์ ผ่าน Facebook ด้วยวิธีโฆษณาซ้ำอย่าง Dynamic Product Ads หรือ การโฆษณาสินค้าบนเว็บไซต์ซ้ำอีกครั้งบน Facebook ก็จะช่วยให้ลูกค้า จดจำสินค้าของคุณได้ง่ายขึ้น ลดต้นทุนต่อการคลิกแล้วซื้อสินค้าของลูกค้า ช่วยสร้างโอกาสในการเพิ่มยอดขายได้ไว และมากขึ้นด้วย เป็นต้น
สำหรับผู้ประกอบการที่กังวลว่า หากนำ Social Media มาใช้ดำเนินธุรกิจแล้ว จะต้องเพิ่มต้นทุนเพื่อจ้างคนมาดูแล Social Media โดยเฉพาะด้วยหรือไม่ คำตอบคือ ไม่จำเป็นเสมอไปครับ เพราะหากธุรกิจของท่านมีขนาดไม่ใหญ่ หรือ ไม่ได้มีความจำเป็นต้องตอบสนองผู้ใช้งาน Social Media แบบทันทีทันใด ก็อาจจะค่อยๆ ทยอยตอบ หรือให้บุคลากรที่มีเวลาเหลือจากการทำหน้าที่ประจำ เช่น พนักงานต้อนรับ หรือ พนักงานเฝ้าโกดัง มาทำหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหว รวบรวม และรายงานความเห็นของลูกค้าที่เข้ามาคอมเม้นท์ในแฟนเพจ หรือ คอยเพิ่มยอดโพสต์การโฆษณาในเวลาที่เหมาะสม เป็นต้น
7. Social Media...เป็นของฟรี
ข้อนี้น่าจะมีคนเข้าใจผิดมากที่สุดแล้วครับ ถึงแม้ว่า Social Media จะเปิดโอกาสให้ทุกคนลงทะเบียน และสร้างตัวตนทางธุรกิจได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
แต่ Social Media ก็เป็นสื่อที่มีเจ้าของเป็นบริษัทผู้ดำเนินธุรกิจเช่นกัน ดังนั้น จึงไม่มีธุรกิจสื่อไหน ที่เปิดโอกาสให้เราใช้สื่อได้ฟรี โดยไม่มีต้นทุน โดยเฉพาะเมื่อมีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มเยอะขึ้น จนกลายเป็นชุมชนของผู้ใช้งานแล้ว Social Media ก็จะมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่คล้ายกับธุรกิจสื่ออื่นๆ นั่นคือ การหารายได้จากค่าโฆษณา
ฉะนั้น หากผู้ประการท่านใด สนใจจะทำโฆษณาใน Social Media เช่น Facebook ในเวลานี้ เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ด้านยอดขาย ผ่านการเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้ Facebook ที่ตรงตามกลุ่มเป้าหมายอย่างแม่นยำขึ้น และเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือที่ได้รับการบอกต่อในเชิงบวกจากผู้ใช้งาน โดยวิธีที่จะลงทุนกับ Social Media อย่างคุ้มค่านั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ธุรกิจของท่าน ต้องการผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำการตลาดดิจิทัล มาคอยแนะนำ และสนับสนุนนะครับ
และทั้งหมดนี้คือ 7 ประเด็นที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Social Media ที่ถ้าคุณลองเปิดใจและเริ่มต้นทำความเข้าใจอีกครั้งอย่างง่ายๆ แล้วคุณก็จะรู้ว่า Social Media ทำอะไรให้ธุรกิจได้อีกเยอะเลยครับ :)
ที่มา : หนังสือ Social Media Merketing: a Strategic Approch (2013). Melissa Barker , Donald Barker, Nicholas Bormann, Krista Neher
August 10, 2015
Suppakorn Chudabala
www.ReadyPlanet.com