7 เรื่องเข้าใจผิดของ Social Media (ตอนที่ 1)

 

แม้ Social Media หรือ สื่อสังคมออนไลน์ จะเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ใช้ในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ ที่เริ่มหันมาใช้ทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น แต่ก็อาจมีความเชื่อหรือเรื่องเข้าใจผิดบางประการในการใช้ Social Media กับธุรกิจ
 

คอลัมน์ Content Marketing จึงขอพาทุกท่านไปทำความเข้าใจกับประเด็นดังต่อไปนี้ให้ถูกต้อง เพื่อนำพาให้ธุรกิจของคุณประสบความสำเร็จบนโลกดิจิทัลอย่างยั่งยืนครับ

 

 



1. Social Media ... ก็แค่กระแส

สำหรับท่านที่ไม่ได้ใช้งาน Social Media จริงจัง มักจะเข้าใจว่า Social Media ก็เหมือนแฟชั่น หรือเป็นแค่กระแสประมาณว่า “ดี๋ยวมา เดี๋ยวไป เดี๋ยวคนก็เลิกใช้กันไปเอง ซึ่งนั่นเป็นความเข้าใจที่ผิดมหันต์เลยครับ เพราะทุกวันนี้ Social Media เป็น Platform หรือ พื้นที่รองรับระบบปฏิบัติการ ที่ส่งเสริมให้ผู้ใช้ มีปฏิสัมพันธ์กันทุกที่ ทุกเวลา ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต 

เช่น เราสามารถพบเจอ พูดคุย กับเพื่อนเก่าและเพื่อนใหม่ได้โดยใช้ Facebook, ผู้ประกอบการแต่ละท่าน สามารถใช้ Facebook เพื่อโฆษณาเว็บไซต์ กับกลุ่มลูกค้าของตน หรือ ผู้บริโภคเองก็ใช้ Facebook เพื่อบอกต่อเกี่ยวกับสินค้าที่ตนใช้ก็ได้ เป็นต้น

อีกทั้ง จำนวนผู้ใช้งาน Social Media ที่เพิ่มขึ้น และมีผลเปลี่ยนพฤติกรรมการสื่อสารแทบทุกด้าน สะท้อนให้เห็นว่า เราเริ่มเคลื่อนเข้าสู่โลกออนไลน์กันมากขึ้นแล้วนะครับ แน่นอนว่า พฤติกรรมการทำธุรกรรม การซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ รวมถึงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ก็ต้องเร่งปรับโฉมให้เป็นดิจิทัลมากขึ้นด้วยครับ ดังนั้น ตราบใดที่มนุษย์เรา ยังต้องสื่อสารผ่าน Platform นี้ Social Media ก็จะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต ไปอีกนาน

 

2. Social Media ... เป็นแค่ของเล่นวัยรุ่น


เป็นอีกความเข้าใจผิดที่พบเห็นได้บ่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใหญ่ที่ไม่ค่อยได้ใช้เทคโนโลยี อาจเพราะภาพลักษณ์ที่หวือหวา ฟังก์ชันที่โฉบเฉี่ยวของ Social Media จึงทำให้บางท่านเข้าใจว่า เป็นเพียงของเล่นใหม่ของวัยรุ่นเท่านั้น

แต่ความจริงแล้ว Social Media กำลังแทรกซึมเข้าถึงคนทุกกลุ่ม ไม่เว้นกระทั่งกลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงวัย สังเกตได้จาก ผลสำรวจของ สพธอ.* ในปี 2556 ที่ระบุว่า ผู้มีอายุ 59 ขึ้นไป เป็นกลุ่มที่มีอัตราการใช้อุปกรณ์แท็บเลตเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากที่สุด

ขณะที่ในปี 2557 สพธอ. ระบุว่า กลุ่มคนอายุ 40-49 ปี มีสัดส่วนการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสูงกว่า กลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี โดยคนไทย ทุกช่วงวัย ใช้สมาร์ทโฟนเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เพื่อใช้งาน Social Media มากที่สุดถึงร้อยละ 78.2 จะเห็นได้ว่า Social Media มีอิทธิพลกับการดำเนินชีวิตของคนไทยทุกกลุ่มแล้วจริงๆ ครับ

(อ้างอิงจาก สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) . 2556. รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย.)

 

3. Social Media ... ทำการตลาดยังไง ก็ไม่เห็นผลลัพธ์

ประเด็นนี้ บางท่านที่ทำธุรกิจมานาน อาจคิดว่า Social Media เป็นแค่สื่อใหม่ที่เด็กๆ ใช้คุยกับเพื่อน ไม่ใช่สื่อที่เหมาะสมจะใช้ทำการตลาด เพราะวัดผลไม่ได้ ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่า ลงทุนไปแล้วจะได้ผลลัพธ์ อีกทั้งไม่ได้เพิ่มโอกาสในการขายสินค้าเมื่อเปรียบเทียบกับการทำโฆษณาในสื่อดั้งเดิม เช่น ทีวี วิทยุ หรือ หนังสือพิมพ์ เป็นต้น

แต่ทราบไหมครับว่า แค่เริ่มคิด ก็ผิดแล้ว เพราะในทางตรงกันข้าม Social Media ถือเป็นสื่อโฆษณาที่วัดผลได้เร็วที่สุด และติดตามผลเกือบทุกกิจกรรมทางการตลาดที่คุณลงทุนไปได้อย่างรวดเร็วทันใจ หรือ ชนิดที่ว่า Real time กันเลยทีเดียว ด้วย Platform ที่เป็นดิจิทัล ทำให้จัดเก็บและประมวลผลข้อมูลต่างๆ ได้ง่าย

เช่น หากทำโฆษณาใน Facebook คุณสามารถเลือก กลุ่มเป้าหมาย ที่จะให้มองเห็นโฆษณาของคุณได้ตามความต้องการ เพราะในฐานข้อมูลของ Facebook จะมีประวัติผู้ใช้งานเก็บไว้ให้เลือกอยู่แล้ว หรือคุณสามารถประเมินจำนวนเงินที่ต้องใช้ ต่ออัตราการเห็นโฆษณาโดยประมาณได้ ซึ่งขั้นตอนนี้ จะละเอียด แม่นยำ และใช้งบประมาณน้อยกว่าการทำโฆษณาผ่านสื่อดั้งเดิมอย่างโทรทัศน์ด้วยครับ

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมือวัดผลอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยในการเก็บข้อมูลวิเคราะห์ วางแผน และลดต้นทุนต่างๆอีกมาก เช่น เครื่องมือ Google Analytics หรือ Facebook Analytics เป็นต้น โดยถ้าคุณได้รับคำแนะนำจากผู้รู้ลึก รู้จริง เรื่องโฆษณาออนไลน์ ก็จะทำให้ธุรกิจ สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ดีขึ้น

ซึ่งผลลัพธ์ที่มีให้เห็น เช่น ผลิตภัณฑ์ชา Golden Tea* ลดต้นทุนในการจัดกิจกรรมร่วมสนุกลงได้ถึง 10,000 ดอลล่าร์ เมื่อหันมาใช้ Facebook หรือ แบรนด์คอมพิวเตอร์ Lenovo* สามารถลดค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงาน Call Center ลงได้ถึงร้อยละ 20 เมื่อนำ Social Media มาเป็นอีกช่องทางในการรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า เป็นต้น

(อ้างอิงจาก Melissa Barker , Donald Barker, Nicholas Bormann, Krista Neher. (2013). Social Media Merketing: a Strategic Approch)

แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ Social Media เพื่อเพิ่มผลลัพธ์กับยอดขาย หรือ เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน คุณต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆด้วย เช่น คุณภาพของผลิตภัณฑ์ ราคาที่เหมาะสมกับกำลังจ่าย และที่สำคัญที่สุดคือ สินค้าหรือบริการที่คุณนำเสนอ ต้องตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าครับ



ผ่านไปแล้วกับ 3 เรื่องที่มักเข้าใจผิด สำหรับครั้งนี้ หวังว่าทุกท่านจะมอง Social Media ในมุมใหม่อย่างเข้าใจยิ่งขึ้น แล้วกลับมาพบกับอีก 4 เรื่องในตอนต่อไปนะครับ


July 27, 2015
Suppakorn Chudabala
www.ReadyPlanet.com


 

สนใจรับฟังข้อมูลบริการ

เว็บไซต์สำเร็จรูป, Online Advertising, Training course