รู้จักกับ บริษัท เรดดี้แพลนเน็ต จำกัด (มหาชน)
ในโลกยุคดิจิทัล ผู้บริโภคหันมารับรู้ข้อมูลข่าวสารและทำธุรกรรมผ่านโลกออนไลน์ ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จต่างต้องปรับตัวเข้าหาผู้บริโภคด้วยวิถีใหม่ ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือ เรดดี้แพลนเน็ต คือ หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของธุรกิจยุคใหม่ โดยเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการขายและการตลาดดิจิทัลที่พร้อมจะสนับสนุนผู้ประกอบการไทย
บริษัท เรดดี้แพลนเน็ต จำกัด (มหาชน) หรือ READY ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2543 โดยคุณทรงยศ คันธมานนท์ ซึ่งมีวิสัยทัศน์ว่า โลกกำลังเปลี่ยนเข้าสู่ยุคใหม่ ที่อินเทอร์เน็ตจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตและการทำธุรกิจในอนาคต จึงได้คิดค้นและพัฒนาแพลตฟอร์มเว็บไซต์สำเร็จรูปแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง ในการดำเนินธุรกิจผ่านโลกออนไลน์
คุณทรงยศ คันธมานนท์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท เรดดี้แพลนเน็ต จำกัด (มหาชน)
จากจุดเริ่มต้นที่อยากลองทำเว็บไซต์เป็นของตัวเองเพื่อเป็นงานอดิเรก แต่หลังจากที่ได้ศึกษาและทดลองทำไปได้สักระยะหนึ่งพบว่า การทำเว็บไซต์ยากกว่าที่คิด จึงเกิดเป็นไอเดียในการพัฒนาแพลตฟอร์มสร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปที่ผู้ใช้ไม่ต้องมีความรู้ทางเทคนิคและการออกแบบ
หลังจากที่มีธุรกิจมาใช้บริการแพลตฟอร์มเว็บไซต์สำเร็จรูปมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกความต้องการที่ทุก ๆ ธุรกิจให้ความสำคัญคือ การโปรโมทเว็บไซต์ เพื่อเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น ดังนั้นบริษัทฯ จึงได้มีการขยายธุรกิจและร่วมเป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์มการตลาดดิจิทัลจากต่างประเทศ เพื่อบริการการตลาดออนไลน์และโฆษณาออนไลน์แก่ผู้ประกอบการไทย
คุณบุรินทร์ เกล็ดมณี
รองกรรมการผู้จัดการบริหาร
บริษัท เรดดี้แพลนเน็ต จำกัด (มหาชน)
เราภูมิใจที่เป็นบริษัทแรกในประเทศไทย ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น Google authorized reseller ในปี 2552 และ Facebook authorized reseller ในปี 2558 ซึ่งเราได้รับความรู้และประสบการณ์ที่ดี ในการทำงานร่วมกับบริษัทระดับโลก เพื่อนำมาใช้ในการให้บริการแก่ผู้ประกอบการไทย
ด้วยแนวคิดที่มุ่งมั่นพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ในปี พ.ศ.2562 เรดดี้แพลนเน็ต ได้เปิดตัว Readyplanet All-in-One Platfrom แพลตฟอร์มการขายและการตลาดแบบรวมเป็นหนึ่งเดียว ยกระดับขีดความสามารถของบริการ เพื่อรองรับความต้องการของธุรกิจที่พร้อมจะเติบโตสู่โลกอนาคต
ปัจจุบันธุรกิจเต็มไปด้วยการแข่งขัน ที่ทำให้ค่าใช้จ่ายทางการตลาดโดยเฉพาะค่าโฆษณาสูงขึ้นอย่างมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่สามารถบริหารจัดการข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทั้งทางด้านการขายและการตลาด ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำและสร้างยอดขายได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญกว่า 22 ปี บริษัทได้พัฒนา Readyplanet All-in-One Platform ประกอบไปด้วย โปรแกรมต่าง ๆ ที่ครอบคลุม 3 ด้าน คือ
1. การสร้างและบริหารจัดการเว็บไซต์ (Website)
2. การทำโฆษณาออนไลน์ (Online Advertising)
3. การบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM)
1. การสร้างและบริหารจัดการเว็บไซต์ (Website)
ประกอบด้วยโปรแกรม ดังต่อไปนี้
- R-Web โปรแกรมสร้างเว็บไซต์
- R-Shop โปรแกรมสร้างร้านค้าออนไลน์
- R-Widget โปรแกรมปุ่มติดต่ออัจฉริยะบนหน้าเว็บไซต์
- R-Booking โปรแกรมจองบริการ
- Hotel Booking Engine โปรแกรมการจองโรงแรมออนไลน์
R-Web โปรแกรมสร้างเว็บไซต์
สำหรับการทำการตลาดดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีสื่อออนไลน์ที่ใช้เป็นตัวตนของผู้ประกอบการบนโลกออนไลน์ (Digital Presence) เพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการ รวมทั้งใช้เป็นช่องทางในการติดต่อให้กับลูกค้า ซึ่งเว็บไซต์ (Website) ถือเป็นหนึ่งในสื่อออนไลน์ที่ได้รับความนิยมในการทำการตลาดดิจิทัลในหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
แต่ในการสร้างเว็บไซต์ หากผู้ประกอบการไม่มีความรู้และความชำนาญ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องจ้างผู้พัฒนาเว็บไซต์ (Web Developer) ซึ่งเป็นผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญทางเทคนิคที่ใช้สำหรับการพัฒนาเว็บไซต์ มาทำหน้าที่ออกแบบและสร้างเว็บไซต์ให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ใช้เวลานานในการพัฒนา และไม่สะดวกในการแก้ไขปรับเปลี่ยนข้อมูลบนเว็บไซต์
บริษัทฯ จึงได้พัฒนาโปรแกรมสร้างเว็บไซต์สำเร็จรูป ที่ชื่อว่า “R-Web” เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างเว็บไซต์ได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ R-Web ออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่ายและไม่จำเป็นต้องมีความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาเว็บไซต์ เนื่องจากเว็บไซต์ที่สร้างจากโปรแกรม R-Web มีลักษณะเป็นเว็บไซต์สำเร็จรูปที่สร้างจากเทมเพลต (Template) หลายๆ เทมเพลตที่ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้งาน โดยเทมเพลตในโปรแกรม R-Web มีลักษณะเป็น “โครงร่างเว็บไซต์” ที่มีการกำหนดประเภทเนื้อหา (ได้แก่ ข้อความ รูปภาพ และ วีดีโอ) ที่แสดงในหน้าเว็บไซต์ และตำแหน่งที่แสดงในหน้าเว็บไซต์ รวมถึงจำนวนกล่อง ข้อความ รูปภาพ และ วีดีโอ ที่สามารถแสดงได้ในหน้าเว็บไซต์นั้นๆ ทำให้ให้เว็บไซต์นั้นมีรูปแบบที่สวยงามน่าใช้งาน และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การใช้งาน บริษัทฯ มีการออกแบบเทมเพลตในลักษณะต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้งานได้ตามความต้องการ เช่น เทมเพลตที่เน้นการแสดงข้อความ เพื่อใช้สำหรับการให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ เทมเพลตสำหรับแสดงรูปภาพและวีดีโอ เพื่อช่วยในการอธิบายและแสดงลักษณะของสินค้าและบริการให้เห็นภาพมากขึ้น และ เทมเพลตร้านค้าออนไลน์ ที่ผู้ใช้งานเว็บไซต์สามารถค้นหาข้อมูลสินค้าและบริการได้อย่างเป็นระบบและใช้งานได้โดยง่าย เป็นต้น
ภาพตัวอย่างการใช้โปรแกรม R-Web
จุดเด่นของการใช้โปรแกรม R-Web คือ
1. ระยะเวลาที่ใช้น้อยกว่าการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์โดยผู้พัฒนาเว็บไซต์ เพราะหากไม่มีเทมเพลตให้เลือกใช้ การสร้างเว็บไซต์แต่ละครั้งต้องเริ่มออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์แต่ละหน้าขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ต้น
2. ค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการจ้างผู้พัฒนาเว็บไซต์ให้ดำเนินการ เนื่องจากเทมเพลตที่บริษัทฯ ออกแบบและพัฒนาขึ้นครั้งหนึ่งสามารถใช้งานได้หลากหลายเว็บไซต์ บริษัทฯ จึงมีต้นทุนที่เกิดจากการออกแบบและพัฒนาเฉลี่ยต่อเว็บไซต์ไม่มาก ค่าบริการสำหรับการใช้งานโปรแกรม R-Web ที่บริษัทฯเรียกเก็บจากผู้ประกอบการจึงไม่สูงมาก ในขณะที่ผู้พัฒนาเว็บไซต์ต้องออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ขึ้นใหม่ทุกครั้ง ค่าบริการที่ผู้พัฒนาเว็บไซต์เรียกเก็บจึงสูงกว่า
3. รูปแบบการใช้งานเหมาะสมสำหรับการทำการตลาดดิจิทัล เพราะบริษัทฯ ออกแบบและพัฒนาเทมเพลตขึ้นมาโดยเน้นการใช้งานด้านการตลาดดิจิทัลเป็นหลัก เทมเพลตที่ใช้งานส่วนใหญ่ผ่านการปรับปรุงและแก้ไขอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับการทำการตลาดดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปและสอดคล้องกับความต้องการใช้งานของผู้ประกอบการ
4. การปรับปรุงและแก้ไขในอนาคตสามารถทำได้ง่ายกว่าการจ้างผู้พัฒนาเว็บไซต์ เนื่องจากในกรณีที่ผู้ประกอบการจ้างผู้พัฒนาเว็บไซต์ให้ดำเนินการ ผู้พัฒนาเว็บไซต์อาจเป็นเพียงคนเดียวที่เข้าใจโครงสร้างเว็บไซต์ของผู้ประกอบการ ทำให้ในอนาคตหากผู้ประกอบการต้องการแก้ไขเว็บไซต์ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องจ้างผู้พัฒนาเว็บไซต์คนเดิมให้เป็นผู้ปรับปรุงและแก้ไขเว็บไซต์ ในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อผู้พัฒนาเว็บไซต์คนเดิมได้ ผู้ประกอบการอาจต้องจ้างผู้พัฒนาเว็บไซต์คนอื่นมาสร้างเว็บไซต์ขึ้นใหม่ทั้งหมด ในขณะที่การใช้งานโปรแกรมสำหรับพัฒนาเว็บไซต์สำเร็จรูป R-Web บริษัทฯ กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่แผนกลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Support) ทำหน้าที่ช่วยผู้ประกอบการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้งาน
นอกจากนี้ โปรแกรม R-Web ยังออกแบบและพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการใช้งานของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในปัจจุบันที่นิยมเข้าเว็บไซต์ผ่านอุปกรณ์ที่หลากหลาย เช่น คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) โน้ตบุ๊ก (Notebook) แท็บเล็ต (Tablet) และสมาร์ตโฟน (Smartphone) ซึ่งมีขนาดหน้าจอแสดงผลที่แตกต่างกัน เว็บไซต์ที่สร้างขึ้นจากโปรแกรม R-Web จึงมีคุณสมบัติรองรับการแสดงผลบนหน้าจออุปกรณ์ที่มีขนาดแตกต่างกันได้อย่างเหมาะสม (Responsive Website) สามารถปรับเปลี่ยนขนาดและการจัดเรียงรูปภาพ และ ปรับขนาดข้อความและการตัดข้อความในแต่ละบรรทัด ให้สอดคล้องกับขนาดจอภาพของผู้ใช้งานเว็บไซต์
ภาพการแสดงผลของเว็บไซต์ออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานบนอุปกรณ์ที่หลากหลาย (Responsive Website)
บริษัทฯ ยังให้บริการเสริมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเว็บไซต์ของผู้ประกอบการ ได้แก่ การให้บริการจดโดเมนเนม (Domain Name) ที่หลากหลาย ทั้งโดเมนเนมที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่คุ้นเคย เช่น ดอทคอม (.com) หรือ ดอทซีโอดอททีเอช (.co.th) และโดเมนเนมที่มีชื่อเฉพาะที่แสดงถึงลักษณะการประกอบธุรกิจ เช่น ดอทคอฟฟี่ (.coffee) และ ดอทฟลาวเวอร์ (.flowers) เป็นต้น
R-Shop โปรแกรมสร้างร้านค้าออนไลน์
ผู้ประกอบการที่ต้องการจำหน่ายสินค้าที่หลากหลายผ่านทางออนไลน์ หากใช้งานเว็บไซต์แบบทั่วไปที่เน้นในการนำเสนอข้อมูลแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีเว็บไซต์ระบบอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce Website) ที่มีระบบการแสดงและค้นหาสินค้าที่แสดงในลักษณะแคตตาล็อก (Catalog) พร้อมระบบรถเข็นออนไลน์ (Online Shopping Cart) สำหรับสั่งซื้อสินค้าและระบบชำระเงิน รวมถึงระบบบริหารจัดการสินค้าที่หลากหลาย บริษัทฯ ได้พัฒนาโปรแกรมสำหรับบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ ที่ชื่อว่า “R-Shop” เพื่อช่วยผู้ประกอบการในการสร้างเว็บไซต์ระบบอีคอมเมิร์ซดังกล่าว โดยโปรแกรม R-Shop ออกแบบมาให้รองรับการทำงานที่สำคัญสำหรับการบริหารจัดการสินค้าและบริการ เช่น
1. การจัดกลุ่มประเภทสินค้าได้หลายระดับ สำหรับร้านค้าออนไลน์ที่มีสินค้าและบริการที่หลากหลาย เช่น ร้านจำหน่ายเสื้อผ้าออนไลน์ ที่มีกลุ่มสินค้าเป็น เสื้อ กระโปรง กางเกง และ เครื่องประดับ โดยในแต่ละกลุ่มสินค้าหลักอาจมีกลุ่มย่อยที่เป็นลักษณะของเสื้อผ้า (เช่น เสื้อเชิ้ตแขนยาว เสื้อเชิ้ตแขนสั้น เสื้อยืดแขนยาว และเสื้อยืดแขนสั้น เป็นต้น) การจัดกลุ่มประเภทสินค้าได้หลายระดับช่วยผู้ประกอบการในการบริหารจัดการสินค้าที่มีลักษณะใกล้เคียงกันได้อย่างเหมาะสมและช่วยให้ลูกค้าของผู้ประกอบการสามารถค้นหาและเลือกซื้อสินค้าและบริการได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น
2. การกำหนดตัวเลือกสินค้าได้หลายแบบ (Product Variants) เช่น ขนาด สี น้ำหนัก เช่น ระบบการสั่งซื้อรองรับการกำหนดตัวเลือกขนาด เช่น เสื้อผ้าขนาด S M L XL และ การกำหนดตัวเลือกสี เช่น สีขาว สีแดง สีฟ้า เป็นต้น
3. ระบบสั่งซื้อสินค้าแบบรถเข็นออนไลน์ (Online Shopping Cart) พร้อมการเชื่อมต่อไปยังระบบชำระเงินออนไลน์ (E-Payment) ของผู้ให้บริการชำระเงินออนไลน์ต่างๆ
4. การตั้งค่าจำนวนสินค้าในสต๊อคและการกำหนดค่าขนส่ง ในกรณีที่ผู้ประกอบการมีสินค้าจำนวนจำกัด ผู้ประกอบการสามารถกำหนดจำนวนสินค้าที่สามารถขายได้ เมื่อมีการขายสินค้าออกไป ข้อมูลจำนวนสินค้าในระบบก็จะลดลง เมื่อจำนวนสินค้าเหลือเป็นศูนย์ ระบบก็จะแสดงผลว่าสินค้าหมด ลูกค้าของผู้ประกอบการก็จะไม่สามารถสั่งซื้อสินค้านั้นได้ นอกจากนั้นในเรื่องการส่งสินค้าไปยังลูกค้า จะเกี่ยวข้องกับการกำหนดค่าขนส่งที่แปรเปลี่ยนไปตามตัวแปรต่างๆ เช่น น้ำหนัก ปริมาตร และ ผู้ให้บริการจัดส่ง ในโปรแกรม R-Shop ผู้ประกอบการสามารถตั้งค่าเกี่ยวกับค่าขนส่งสินค้าที่แตกต่างกันได้
ภาพตัวอย่างการใช้งานโปรแกรมร้านค้าออนไลน์ (R-Shop)
ทั้งนี้ บริษัทฯ ออกแบบให้โปรแกรม R-Shop สามารถเชื่อมต่อกับเว็บไซต์ที่สร้างขึ้นจากโปรแกรม R-Web โดยบริษัทฯ ออกแบบให้เว็บไซต์ทำหน้าที่เป็นหน้าร้านออนไลน์ที่เชื่อมโยงข้อมูลสินค้าจากโปรแกรม R-Shop นำมาแสดงได้ทันที การเชื่อมโยงข้อมูลจากฐานข้อมูลเดียวกันช่วยลดความยุ่งยากในการบริหารจัดการสินค้าและบริการของลูกค้า
R-Widget โปรแกรมปุ่มติดต่ออัจฉริยะบนหน้าเว็บไซต์
เว็บไซต์ที่ดี ควรจะต้องมีการนำเสนอข้อมูลได้เหมาะสม และสามารถทำให้ผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ สามารถติดต่อไปยังผู้ประกอบการได้ง่ายและสะดวกเท่าที่จะทำได้ เพราะในแต่ละวันเว็บไซต์หนึ่ง ๆ อาจจะมีผู้เข้าเยี่ยมชมเป็นหลักหลายร้อยหรือหลายพันคน หากเว็บไซต์ใช้งานยาก หาข้อมูลไม่สะดวกและติดต่อได้ยาก ปัญหานี้จะเป็นตัวทำลายโอกาสในการขายสินค้าไปอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ลูกค้ามีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ลูกค้านิยมติดต่อสอบถามข้อมูลในหลากหลายช่องทางมากกว่าแต่ก่อน ไม่ว่าจะเป็น ติดต่อผ่านแบบฟอร์มบนหน้าเว็บไซต์ ติดต่อทางโทรศัพท์ ทางอีเมล การแชทผ่าน LINE และ การแชทผ่าน Facebook Messenger รวมทั้งหากผู้ประกอบการต้องเข้าถึงลูกค้าในต่างประเทศ อาจจำเป็นต้องเพิ่มตัวเลือกให้ลูกค้าติดต่อผ่าน Skype หรือ WhatsApp ดังนั้นเว็บไซต์ที่ดีควรรองรับการติดต่อผ่านช่องทางต่างๆ ที่ลูกค้าสะดวก บริษัทฯ มองเห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้พัฒนาซอฟต์แวร์ปุ่มติดต่ออัจฉริยะบนหน้าเว็บไซต์ ชื่อว่า “R-Widget” เพื่อรวบรวมช่องทางการติดต่อในแบบต่างๆ ข้างต้น โดยแสดงบนปุ่มติดต่อ (Contact Button) ที่แสดงบนหน้าเว็บไซต์ที่ผู้ใช้ออนไลน์คลิกติดต่อได้ง่าย โดยทำงานเชื่อมต่อไปยังระบบการติดต่อประเภทต่างๆ ได้โดยอัตโนมัติ เช่น หากลูกค้าเข้าเว็บไซต์บนโทรศัพท์มือถือ แล้วคลิกปุ่มติดต่อที่เป็นเบอร์โทร ลูกค้าจะสามารถโทรหาผู้ประกอบผ่านโทรศัพท์มือถือของตนได้ทันที โดยไม่ต้องกดเบอร์โทรศัพท์ (ลูกค้ายังคงต้องเสียค่าบริการโทรศัพท์ตามปกติ) หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง กรณีลูกค้าคลิกปุ่มแชทผ่าน LINE ลูกค้าจะสามารถเชื่อมต่อไปคุยกับผู้ประกอบการผ่าน LINE ที่กำหนดไว้ได้ทันที ซึ่งในสองตัวอย่างข้างต้นโปรแกรม R-Widget จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าสามารถติดต่อผู้ประกอบการได้ง่ายขึ้นและไม่ตกหล่น ซึ่งจะทำให้การทำการตลาดดิจิทัลมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และช่วยเพิ่มยอดขายให้กับผู้ประกอบการในที่สุด
นอกจากการเพิ่มความง่ายและความสะดวกในการติดต่อให้กับเว็บไซต์แล้ว โปรแกรม R-Widget ยังสามารถวัดสถิติต่างๆ เกี่ยวกับการเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ โดยแสดงเป็นรายงานสถิติการเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ และการคลิกปุ่มติดต่อประเภทต่างๆ ว่ามีจำนวนการโทร การแชท และการกรอกแบบฟอร์มติตต่อเป็นจำนวนและสัดส่วนที่แตกต่างกันอย่างไร และสามารถนำสถิติการติดต่อนี้ เป็นข้อมูลการวัดผลการทำโฆษณา (Conversion Tracking) ว่า โฆษณาลักษณะใดที่ทำให้มีลูกค้าติดต่อมายังผู้ประกอบการ โดยโปรแกรม R-Widget จะส่งต่อข้อมูลการวัดผลนี้ ไปยังแพลตฟอร์มการโฆษณา เช่น Google เพื่อช่วยในการระบุกลุ่มเป้าหมายการทำโฆษณาให้มีความแม่นยำมากขึ้น ส่งผลทำให้การทำโฆษณามีประสิทธิภาพมากขึ้น
ภาพตัวอย่างการทำงานโปรแกรม R-Widget ที่แสดงช่องทางติดต่อสื่อสารที่ผู้ใช้งานเว็บไซต์สามารถติดต่อลูกค้าได้
R-Booking โปรแกรมจองบริการ
ในการดำเนินธุรกิจบริการบางประเภท เช่น บริการที่ปรึกษา คลินิก ศูนย์บริการรถยนต์ เป็นต้น ผู้ประกอบการอาจจำเป็นต้องมีระบบจองเวลา เพื่อนัดหมายในการใช้บริการ เพื่อให้ลูกค้าของผู้ประกอบการไม่เสียเวลารอ และมั่นใจได้ว่าจะได้รับบริการจากผู้ประกอบการเมื่อถึงเวลาที่ได้จองบริการไว้ โดยทั่วไปผู้ประกอบการมักจะกำหนดให้มีการจองเวลาทางโทรศัพท์ และบันทึกการจองไว้ในสมุดจดรายการจองบริการ แต่ระบบการจัดการจองบริการแบบเดิมที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไปมีข้อจำกัดต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาได้ เช่น ในกรณีที่ผู้ประกอบการอยู่ระหว่างการให้บริการหรือไม่ได้ยินเสียงโทรศัพท์ ผู้ประกอบการจึงไม่ได้รับสายที่โทรเข้ามาจองเวลาบริการ ผู้ประกอบการก็อาจเสียโอกาสในการให้บริการครั้งนั้นไป หรือในกรณีที่ผู้ประกอบการลืมจดบันทึกข้อมูลการจองเวลานัดหมาย หรือจดบันทึกข้อมูลการจองไม่ถูกต้อง ลูกค้าของผู้ประกอบการก็อาจไม่สามารถเข้ารับบริการได้ตามที่จองเวลาไว้และเกิดความไม่พอใจต่อบริการของผู้ประกอบการได้
เพื่อให้ผู้ประกอบการมีระบบจองบริการที่เหมาะสม บริษัทฯ จึงได้พัฒนาโปรแกรมสำหรับจัดการจองบริการ ที่ชื่อ “R-Booking” ที่ช่วยให้ผู้ที่ต้องการเข้ารับบริการจากลูกค้าสามารถจองเวลาเข้ารับบริการได้ด้วยตัวเองจากหน้าเว็บไซต์ของผู้ประกอบการ ทั้งนี้ โปรแกรม R-Booking จะช่วยสร้างแบบฟอร์มการจองเวลาที่จะใช้บริการในรูปแบบเว็บแอปพลิเคชัน (Web Application) ที่ทำงานอยู่บนหน้าเว็บไซต์ของผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ที่ต้องการเข้ารับบริการกรอกข้อมูลการจองตามที่ผู้ประกอบการกำหนด โดยผู้ประกอบการสามารถกำหนดลักษณะข้อมูลการจองที่ต้องการเพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจของผู้ประกอบการ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ธุรกิจของผู้ประกอบการมีการให้บริการที่หลากหลาย ผู้ประกอบการจึงต้องทราบว่าผู้ที่ต้องการเข้ารับบริการต้องการใช้บริการประเภทใด เช่น คลินิกที่มีแพทย์หลายคน อาจกำหนดให้ผู้ที่ต้องการเข้ารับบริการแจ้งว่า ต้องการเข้ารับบริการกับแพทย์ท่านใด เป็นต้น จากการที่แบบฟอร์มการจองบริการอยู่ในรูปแบบเว็บแอปพลิเคชัน ทำให้ประกอบการสามารถติดตั้งแบบฟอร์มการนัดหมายเวลาได้ทั้งเว็บไซต์ที่พัฒนาขึ้นเองและเว็บไซต์ที่พัฒนาขึ้นโดยใช้โปรแกรม R-Web ก็ได้
ภาพตัวอย่างการจองเวลาในการใช้บริการบนโปรแกรม R-Booking
เมื่อผู้ที่ต้องการจองบริการดำเนินการแล้วเสร็จ ระบบก็จะส่งข้อความเพื่อยืนยันเวลาที่จองไว้ในรูปแบบข้อความทางโทรศัพท์ (SMS) หรือ อีเมล (E-mail) ให้กับผู้ที่ได้จองบริการไว้ และแจ้งข้อมูลการจองไปยังพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของผู้ประกอบการที่มีหน้าที่ให้บริการตามที่ลูกค้าได้จองไว้ รวมทั้งบันทึกตารางการจองในปฏิทิน (Calendar) ของพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ได้ทันที เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานหรือเจ้าหน้าที่คนนั้นลืมเวลาที่ลูกค้าจองไว้
ภาพตัวอย่างหน้าจัดการรายการจองเวลาในการใช้บริการบนโปรแกรม R-Booking
Hotel Booking Engine โปรแกรมการจองโรงแรมออนไลน์
โปรแกรม Hotel Booking Engine เป็นระบบจองโรงแรมออนไลน์ที่ออกแบบมาให้ใช้งานง่ายและทันสมัย รองรับการชำระเงินได้หลากหลายช่องทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รองรับการจองห้องพักต่างประเภทและโปรโมชั่นพร้อมบริการเสริมได้ในการจองครั้งเดียว เจาะตรงกลุ่มเป้าหมายด้วยการกำหนดโปรโมชั่นเฉพาะประเทศหรือเฉพาะอุปกรณ์ สามารถวัดผลประสิทธิภาพการจองผ่านเว็บไซต์ของโรงแรมและช่องทางออนไลน์ได้ ด้วยรายงานการขายที่จะช่วยสนับสนุนการวิเคราะห์และวางแผนการตลาดให้กับโรงแรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภาพตัวอย่างหน้าการจองห้องพักผ่านหน้าเว็บไซต์โรงแรม
ผู้ประกอบการโรงแรมสามารถสร้างรายได้จากห้องพัก รวมถึงยังสามารถเพิ่มยอดขาย สร้างรายได้จากส่วนบริการเสริมอื่นๆ (Add-on Services) ภายในโรงแรมได้อย่างสะดวกและง่ายดาย ด้วยระบบขายบริการเสริม (Add-on Store) เพื่อเพิ่มยอดขายในลักษณะ Up-selling & Cross-selling ด้วยการจองบริการเสริมอื่นๆ เช่น รถรับส่ง สปา คูปองอาหาร แพ็กเกจทัวร์ ไปพร้อมกับการจองห้องพัก รวมทั้งสามารถนำบริการเหล่านี้มาเปิดเป็นร้านค้าออนไลน์บนเว็บไซต์ของโรงแรม ที่รองรับลูกค้าจากทุกช่องทาง ช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าและบริการ และจ่ายเงินได้ทันทีผ่านเว็บไซต์ของโรงแรมได้โดยตรง
นอกจากนั้น โปรแกรม Hotel Booking Engine สามารถเชื่อมต่อกับระบบการค้นหาโรงแรมในกูเกิลที่เรียกว่า Google Hotel Ads และ Free Booking Link (FBL) เพื่อให้เกิดการจองจองห้องพักผ่านเว็บไซต์ของโรงแรมโดยตรง (Official Website) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะสามารถเพิ่มยอดขายให้กับโรงแรม
2. การทำโฆษณาออนไลน์ (Online Advertising)
มีโปรแกรมที่ช่วยเพิ่มยอดขายและสื่อสารไปยังลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ประกอบไปด้วย
- R-Ads โปรแกรมเพิ่มประสิทธิภาพการทำโฆษณาออนไลน์
- R-Dynamic โปรแกรมจัดการโฆษณาติดตามกลุ่มเป้าหมายแบบไดนามิค
- R-Message โปรแกรมส่งข้อความผ่าน SMS และอีเมลการตลาด
- AdPro ICE โปรแกรมบริหารจัดการบัญชีโฆษณาออนไลน์
R-Ads โปรแกรมเพิ่มประสิทธิภาพการทำโฆษณาออนไลน์
ภาพตัวอย่างรายงานสถิติการทำโฆษณาออนไลน์
โปรแกรม R-Ads เป็นโปรแกรมเพิ่มประสิทธิภาพการทำโฆษณาบนแพลตฟอร์ม Google Ads พร้อมการรายงานผลวิเคราะห์การทำโฆษณาในบริการ AdPro Dynamic ซึ่งเป็นบริการที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการโฆษณาของบริษัทฯ เป็นผู้บริหารโฆษณาให้ลูกค้า หลักการทำงานของโปรแกรม R-Ads จะทำการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม Google Ads ผ่านระบบ Google API (Application Program Interface) และทำงานร่วมกับโปรแกรม R-Widget ปุ่มติดต่อบนหน้าเว็บไซต์ ซึ่งจะทำหน้าที่เก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งาน (Activities) ของผู้ใช้ออนไลน์ที่คลิกเข้ามายังเว็บไซต์ของผู้ประกอบการ เมื่อผู้ใช้ออนไลน์คลิกปุ่มติดต่อบน R-Widget ระบบจะประมวลผลเพื่อตีความพฤติกรรมนี้ว่าเป็น ผลลัพธ์จากโฆษณา (Conversion from Ads) จากนั้นจึงส่งข้อมูลผลลัพธ์ (Conversion) นี้ไปยังแพลตฟอร์ม Google Ads เพื่อบอกให้ระบบของ Google ได้เรียนรู้ว่าโฆษณาที่ได้แสดงไปมีคุณภาพที่ดี เนื่องจากทำให้เกิดมีผู้สนใจติดต่อเข้ามายังผู้ประกอบการ การส่งข้อมูลผลลัพธ์ในลักษณะนี้ จะข่วยให้ Google สามารถใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence - AI) ในปรับการแสดงผลโฆษณา เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยโฆษณาจะสามารถเข้าถึงผู้ใช้ออนไลน์คนต่อๆ ไปที่มีพฤติกรรรมคล้ายคลึงกัน และมีแนวโน้มจะซื้อสินค้าและบริการของผู้ประกอบการได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
สำหรับการรายงานผลวิเคราะห์การทำโฆษณา โปรแกรม R-Ads จะแสดงรายละเอียดค่าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาออนไลน์ของลูกค้ารายแคมเปญ และมีการแสดงผลให้เข้าใจง่าย ทั้งในรูปแบบของกราฟและตารางเปรียบเทียบในแต่ละช่วงเวลาอย่างเหมาะสม เช่น ในช่วงการทำโฆษณา มีการแสดงผลเปรียบเทียบแต่ละ คำค้นหา (Keyword) สำหรับการโฆษณาว่าเป็นคำค้นหาสำหรับโฆษณาที่ดีหรือไม่ มีผู้ใช้คำค้นหาดังกล่าวในการค้นหาสินค้าและบริการตามเป้าหมาย หากไม่เป็นดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านการโฆษณาของบริษัทฯ ก็จะปรับคำค้นหาให้ผลการโฆษณาออกมาได้ตามเป้าหมายต่อไป นอกจากนี้ ยังมีค่าแสดงผลอื่นๆ เช่น ยอดคงเหลือค่าโฆษณา ค่าใช้จ่ายต่อการคลิก (CPA) จำนวนคลิก จำนวนครั้งการแสดงผลโฆษณา (Impressions) ค่าใช้จ่ายโฆษณารวม เป็นต้น ซึ่งลูกค้าที่ใช้งานโปรแกรม
R-Ads ได้รับประโยชน์จากการที่สามารถติดตามดูข้อมูลการโฆษณาได้อย่างใกล้ชิด
R-Dynamic โปรแกรมจัดการโฆษณาติดตามกลุ่มเป้าหมายแบบไดนามิค
ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ส่งผลต่อการทำโฆษณาออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จ คือ ความแม่นยำในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเป้าหมายของผู้ประกอบการ แม้ว่าการโฆษณาบนแพลตฟอร์มการค้นหาข้อมูล การโฆษณาบนเว็บไซต์ที่เป็นเครือข่ายพันธมิตร และการโฆษณาบนแพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์ จะสามารถคัดเลือกกลุ่มผู้ใช้ออนไลน์ที่จะให้แสดงโฆษณาได้ แต่กลุ่มผู้ใช้ออนไลน์ดังกล่าวกำหนดจากการ “คาดการณ์” ลักษณะของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของผู้ประกอบการ หากผู้ประกอบการไม่สามารถวิเคราะห์หาลักษณะของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง การโฆษณาออนไลน์ก็จะไม่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง
เพื่อให้การทำการโฆษณาออนไลน์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการบางรายจึงพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยให้การโฆษณาประชาสัมพันธ์เจาะจงไปยังผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มี “แนวโน้ม” ที่สนใจและต้องการใช้สินค้าและบริการของผู้ประกอบการอย่างแท้จริง โดยเครื่องมือดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถทำโฆษณาออนไลน์ไปยังผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เคยเข้าเว็บไซต์ของผู้ประกอบการแต่ยังไม่มีการซื้อสินค้าและบริการ เพื่อให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตรายนั้นเห็นโฆษณาของผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการจดจำตราสินค้า (Brand) สินค้าและบริการ และเว็บไซต์ของผู้ประกอบการ รวมถึงกระตุ้นให้เกิดความต้องการและตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการได้ ซึ่งการโฆษณาในลักษณะดังกล่าวเรียกว่า การโฆษณาติดตามกลุ่มเป้าหมาย (Retargeting Advertising)
ภาพแสดงขั้นตอนการโฆษณาติดตามกลุ่มเป้าหมาย (Retargeting)
ทั้งนี้ การโฆษณาแบบติดตามกลุ่มเป้าหมายยังมีรูปแบบการทำงานที่ซับซ้อนแตกต่างไป โดยการติดตามกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ซับซ้อนมากเป็นการติดตามกลุ่มเป้าหมายที่เคยเข้าเว็บไซต์ของผู้ประกอบการแต่ไม่สามารถระบุได้ว่าบุคคลดังกล่าวเข้ามาเพื่อศึกษาและหาข้อมูลสินค้าและบริการประเภทใด การโฆษณาแบบติดตามเป้าหมายโดยใช้เครื่องมือที่ไม่ซับซ้อนแบบนี้จะทำโฆษณาได้เฉพาะในลักษณะการโฆษณาเพื่อให้เกิดการรับรู้และจดจำตราสินค้า (Brand) และเว็บไซต์ของผู้ประกอบการเป็นหลัก แต่การโฆษณาติดตามกลุ่มเป้าหมายที่มีความซับซ้อนจะมีการวิเคราะห์ว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เข้าเว็บไซต์ของผู้ประกอบการเข้ามาเพื่อศึกษาและหาข้อมูลสินค้าและบริการประเภทใด ทำให้ผู้ประกอบการสามารถทำการโฆษณาโดยเจาะจงไปที่สินค้าและบริการที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายนั้นๆ ให้ความสนใจ จึงช่วยเพิ่มโอกาสในการปิดการขายสินค้าและบริการได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่มีเครื่องมือสำหรับทำโฆษณาแบบติดตามกลุ่มเป้าหมายที่มีความซับซ้อนจะเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เช่น เว็บไซต์ที่เป็นอีมาร์เก็ตเพลส (e-Marketplace) ขนาดใหญ่ เป็นต้น เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างมากในการพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการติดตามกลุ่มเป้าหมายที่ซับซ้อน
ภาพแสดงความแตกต่างของการโฆษณาติดตามกลุ่มเป้าหมาย (Retargeting) แบบปกติกับโปรแกรม R-Dynamic
ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก สามารถทำโฆษณาแบบติดตามกลุ่มเป้าหมายที่ซับซ้อนได้ บริษัทฯ จึงพัฒนาโปรแกรมสำหรับการโฆษณาติดตามกลุ่มเป้าหมายที่มีชื่อว่า “R-Dynamic” เพื่อให้บริการกับลูกค้า ทั้งนี้ โปรแกรม R-Dynamic ออกแบบมาให้ลูกค้าสามารถใช้งานง่ายและสามารถบริหารจัดการได้ด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ชำนาญการโฆษณาออนไลน์คอยให้คำแนะนำ เพราะโปรแกรม R-Dynamic จะช่วยดึงข้อมูลสินค้าและบริการที่แสดงอยู่บนหน้าเว็บไซต์ของผู้ประกอบการโดยอัตโนมัติ และสร้างแคมเปญโฆษณา (Advertising Campaign) สำหรับสินค้าและบริการแต่ละรายการโดยอัตโนมัติ ลูกค้าทำหน้าที่เพียงแค่เลือกว่าสินค้าและบริการใดที่ต้องการทำโฆษณาออนไลน์ หากสินค้าและบริการใดไม่ต้องการทำโฆษณาก็เพียงแค่ปิดการทำงานแคมเปญโฆษณา (Advertising Campaign) ที่แพลตฟอร์มได้สร้างไว้เท่านั้น ในกรณีที่ลูกค้ามีการเพิ่มหรือลดรายการสินค้าและบริการที่จำหน่ายบนเว็บไซต์โปรแกรม R-Dynamic ก็จะปรับปรุงรายการ (List) ของแคมเปญโฆษณาให้ใหม่โดยอัตโนมัติ ปัจจุบันบริษัทฯ สามารถกำหนดให้การโฆษณาติดตามเป้าหมายแบบไดนามิคจะติดตามไปทั้งโฆษณาบน Facebook, Google และเครือข่าย Google Display Network
R-Message โปรแกรมส่งข้อความผ่าน SMS และอีเมลการตลาด
ภาพตัวการส่งข้อความผ่าน SMS ด้วยโปรแกรม R-Message
แนวคิดของการทำการตลาดดิจิทัลในปัจจุบัน คือ การตลาดโดยใช้ข้อมูล (Data-driven Marketing) เพื่อการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายและลูกค้าได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แพลตฟอร์ม “Readyplanet All-in-One Platform” ได้ถูกออกแบบมาให้มีระบบการจัดเก็บข้อมูลการติดต่อ เช่น ข้อมูล ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล เพื่อใช้งานด้านการบริหารความสัมพันธ์ลูกค้าและใช้ในด้านการตลาด โดยบนแพลตฟอร์มของบริษัทฯ จะมีตัวเลือกการขอความยินยอมจากลูกค้าเพื่อที่จะนำข้อมูลไปใช้ในวัตถุประสงค์ทางการตลาด เช่น การแจ้งข่าว แคมเปญโปรโมชั่น สินค้าใหม่ จดหมายข่าว และกิจกรรมทางการตลาดต่างๆ โดยเมื่อผู้ประกอบการมีฐานข้อมูลของลูกค้าสะสมรวบรวมเป็นจำนวนมาก การแจ้งข่าวสารโดยใช้การส่งอีเมลหรือโทรศัพท์เป็นรายๆ จะยิ่งทำได้ยาก ดังนั้น บริษัทจึงได้พัฒนาโปรแกรมส่งข้อความผ่าน SMS และอีเมลการตลาด ที่ชื่อว่า “R-Message” เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถสื่อสารกับฐานลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยโปรแกรม R-Message จะทำหน้าที่ส่งข้อความข่าวสารถึงลูกค้าครั้งละเป็นจำนวนมาก โดยอาศัยฐานข้อมูลลูกค้าที่อยู่บนแพลตฟอร์ม “Readyplanet All-in-One Platform” นอกจากนั้นโปรแกรม R-Message ยังสามารถส่งข้อความถึงลูกค้าแบบเฉพาะกลุ่ม (Custom Segment) ที่ผู้ประกอบการสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะได้บนระบบ เช่น กลุ่มลูกค้าที่ซื้อสินค้าประเภทต่างๆ กลุ่มลูกค้าที่มีมูลค่าสั่งซื้อสูง กลุ่มลูกค้าจังหวัดต่างๆ เป็นต้น
ภาพตัวการส่งข้อความผ่าน Email ด้วยโปรแกรม R-Message
AdPro ICE โปรแกรมบริหารจัดการบัญชีโฆษณาออนไลน์
โปรแกรม AdPro ICE เป็นโปรแกรมบริหารจัดการบัญชีโฆษณา ที่ทำงานเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มโฆษณา Google และ Facebook เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญในการบริหารจัดการโฆษณาของบริษัทฯ สามารถบริหารจัดการบัญชีโฆษณาของลูกค้าจำนวนมากในเวลาเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการทำงานของโปรแกรม AdPro ICE จะทำการสร้างบัญชีลูกค้าที่ระบุข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ วันที่เริ่มบริการ และวันหมดอายุบริการ โดยบัญชีดังกล่าวจะทำการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มโฆษณา Google และ Facebook ผ่านระบบ API (Application Program Interface) โดยระบบจะดึงข้อมูลการตั้งค่า และสถิติการทำโฆษณาต่างๆ เช่น จำนวนการแสดงโฆษณา (Impressions) จำนวนการคลิก (Clicks) อัตราการคลิก (Click Through Rate - CTR) จำนวนเงินที่ใช้ และจำนวนเงินคงเหลือ เป็นต้น มาแสดงในหน้ารวม (Dash Board) บนระบบ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญการบริหารจัดการโฆษณาสามารถดูและตรวจสอบได้ในหน้าเดียวกัน และระบบจะมีการมอนิเตอร์ความผิดปกติต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแสดงโฆษณา เช่น อัตราการคลิก (CTR) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือจำนวนเงินคงเหลือค่าโฆษณาใกล้หมด โดยหากเกิดปัญหาขึ้น ระบบจะแสดงการแจ้งเตือนให้ผู้เชี่ยวชาญฯ ได้ทราบ เพื่อดำเนินการปรับแก้ไขได้อย่างทันท่วงที เช่น กรณีเงินค่าโฆษณา หรืออายุบริการใกล้จะหมด ระบบจะสามารถส่งข้อมูลต่อให้เจ้าหน้าที่ประสานงานของบริษัทฯ ดำเนินการออกใบเสนอราคาให้กับลูกค้าเพื่อชำระเงินได้ต่อไป
นอกจากนั้น โปรแกรม AdPro ICE จะทำการประมวลผล เพื่อสร้างรายงานสถิติและการวิเคราะห์ ของการลงโฆษณาของลูกค้าแต่ละราย และจะส่งรายงานให้กับลูกค้าทางอีเมลอย่างอัตโนมัติเป็นประจำทุกสัปดาห์
ภาพตัวอย่างรายงานสถิติและการวิเคราะห์ผลการลงโฆษณาของลูกค้าแต่ละรายในโปรแกรม AdPro ICE
3. การบริหารความสัมพันธ์ของลูกค้า (CRM)
ในการบริหารจัดการตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการขายจนถึงการปิดการขาย สร้างความภักดีในแบรนด์ และนำไปสู่การเป็นลูกค้าประจำของธุรกิจ ซึ่งประกอบไปด้วย
- R-CRM โปรแกรมบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า
- R-Insights โปรแกรมรายงานสถิติการขายและการตลาด
- R-Chat โปรแกรมศูนย์รวมแชทในที่เดียว
- Pointspot โปรแกรมระบบสมาชิกสะสมแต้มดิจิทัล
R-CRM โปรแกรมบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า
ภาพตัวอย่างโปรแกรมสำหรับบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า R-CRM
นอกเหนือจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการให้กลุ่มเป้าหมายรู้จัก สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในกระบวนการขาย คือ การติดตามกลุ่มเป้าหมายที่สนใจในสินค้าและบริการของผู้ประกอบการ เพื่อนำไปสู่การปิดการขาย โดยสิ่งที่ผู้ประกอบการหรือพนักงานขายของผู้ประกอบการต้องดำเนินการในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการขายมีหลายอย่าง เช่น การแจ้งรายละเอียดสินค้าและบริการที่มักเกิดขึ้นในช่วงแรกที่ผู้ประกอบการมีการติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากที่ได้รับจากเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊กของผู้ประกอบการ และการส่งใบเสนอราคาให้ลูกค้าของผู้ประกอบการที่เกิดขึ้นหลังจากลูกค้าของผู้ประกอบการได้พิจารณาข้อมูล และต้องการสั่งซื้อสินค้าและบริการของผู้ประกอบการ เป็นต้น ดังนั้น เพื่อให้กระบวนการขายมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีระบบที่ใช้สำหรับบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (Customer Relationship Management หรือ CRM) ที่ดี โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีลูกค้า และ/หรือมีพนักงานขายในทีมขายเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ผู้ประกอบการ ผู้บริหาร และผู้จัดการทีมขาย สามารถติดตามกระบวนการขาย การทำงานของทีมขายได้อย่างเหมาะสม เป็นระบบ วัดผลได้ นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาแผนการขายได้
บริษัทฯ จึงได้พัฒนาโปรแกรมสำหรับการบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM) ที่เรียกว่า “R-CRM” เพื่อช่วยลูกค้าในการบริหารจัดการตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการขายจนถึงการปิดการขาย และต่อเนื่องไปถึงการรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าของผู้ประกอบการในระยะยาว โดยโปรแกรม R-CRM ออกแบบให้มีการจัดเก็บข้อมูลและประวัติของ “บุคคลที่สนใจในสินค้าและบริการ” ตั้งแต่การเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ โดยกำหนดให้พนักงานขายของผู้ประกอบการต้องบันทึกข้อมูลของบุคคลที่สนใจในสินค้าและบริการ เช่น ชื่อกิจการ ลักษณะการประกอบธุรกิจ ชื่อ-นามสกุลของผู้ที่ติดต่อใช้บริการ หมายเลขโทรศัพท์ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลของบุคคลที่สนใจในสินค้าและบริการแต่ละรายเรียกว่า ลีด (Lead) ในกรณีที่ผู้ประกอบการมีการใช้โปรแกรม R-CRM ร่วมกับโปรแกรม R-Widget ที่เป็นปุ่มติดต่อบนหน้าเว็บไซต์ ผู้ประกอบการสามารถเปิดใช้งานช่องทางสื่อสารประเภท ห้องสนทนา (Chat) บนเว็บไซต์ของผู้ประกอบการ และแบบฟอร์มแจ้งข้อมูลให้ผู้ประกอบการติดต่อกลับ เมื่อผู้ใช้งานเว็บไซต์ของผู้ประกอบการกดปุ่มของโปรแกรม R-Widget และเลือกติดต่อผู้ประกอบการจาก 2 ช่องทางสื่อสารดังกล่าว ข้อมูลจากโปรแกรม R-Widget จะเชื่อมต่อมายังโปรแกรม R-CRM เพื่อสร้างลีด (Lead) ของบุคคลที่สนใจในสินค้าและบริการรายนั้นไว้โดยอัตโนมัติ
เมื่อลีด (Lead) ของบุคคลที่สนใจในสินค้าและบริการได้บันทึกไว้ในระบบแล้ว พนักงานขายสามารถบันทึกสถานการณ์ติดต่อในแต่ละวัน เช่น การแจ้งข้อมูลสินค้าและบริการ การส่งใบเสนอราคา และการนัดหมายวันที่ลูกค้าสะดวกให้ติดต่อกลับ เป็นต้น ทั้งนี้ โปรแกรม R-CRM ออกแบบให้มีการบันทึกสถานะการติดต่อลูกค้าที่สำคัญโดยอัตโนมัติ เช่น การส่งอีเมลเพื่อแจ้งข้อมูลสินค้าและบริการ การส่งอีเมลเพื่อแจ้งใบเสนอราคา และการสนทนาในห้องสนทนา (Chat Room) บนเว็บไซต์ของผู้ประกอบการ เป็นต้น การบันทึกสถานะการติดต่อลูกค้าในแต่ละวันช่วยให้พนักงานขายสามารถติดตามความคืบหน้าในการขายสินค้าและบริการได้อย่างเหมาะสม
โปรแกรม R-CRM ยังออกแบบให้มีการกำหนดสิทธิในการจัดการกับลีด (Lead) แต่ละรายการได้ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถกำหนดสิทธิการเข้าถึงลีด (Lead) ให้กับพนักงานขายที่มีหน้าที่ดูแลลูกค้าโดยตรง และให้กับหัวหน้าทีมขายที่มีหน้าที่ดูแลพนักงานขายในทีม ทำให้หัวหน้าทีมขายสามารถตรวจสอบประวัติการติดต่อลูกค้าที่พนักงานขายในทีมดูแล และบริหารจัดการพนักงานขายให้มีประสิทธิภาพได้ การกำหนดสิทธิในการจัดการกับลีด (Lead) ยังช่วยให้หัวหน้าทีมขายรับผิดชอบดูแลลีด (Lead) ยังสามารถดูประวัติการติดต่อลูกค้าที่เคยบันทึกไว้ ทำให้พนักงานขายคนใหม่สามารถดูแลและติดตามลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ โปรแกรม R-CRM ยังออกแบบให้มีฟังก์ชันการทำงานอื่นที่ช่วยสนับสนุนงานขายให้มีประสิทธิภาพ เช่น ฟังก์ชันการจัดเก็บเอกสารมาตรฐาน ที่ผู้ประกอบการสามารถใช้ในการจัดเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้าและบริการที่ต้องมีการใช้งานเป็นประจำ (เช่น โบรชัวร์ (Brochure) ข้อมูลสินค้าและบริการ และใบสรุปราคาและเงื่อนไข เป็นต้น) ทำให้ผู้ประกอบการมั่นใจได้ว่า พนักงานขายแต่ละรายส่งเอกสารที่ถูกต้อง และมีรายละเอียดเหมือนกันให้กับลูกค้า และฟังก์ชันการแจ้งเตือนนัดหมายที่พนักงานขายสามารถตั้ง เพื่อเตือนให้ติดตามความคืบหน้าในการขาย (เช่น การเตือนให้พนักงานขายติดต่อลูกค้าอีกครั้งตามเวลาที่ได้นัดหมายไว้ หรือการเตือนให้พนักงานขายติดตามลูกค้า เพื่อสอบถามผลการพิจารณาข้อมูลสินค้าและบริการ เป็นต้น)
ภาพตัวอย่าง ฟังก์ชันการจัดเก็บเอกสาร
R-Insights โปรแกรมรายงานสถิติการขายและการตลาด
โปรแกรม R-Insights เป็นแพลตฟอร์มการแสดงผลการทำงานของทีมขายที่เชื่อมกับโปรแกรม R-CRM ช่วยให้ผู้บริหาร และผู้จัดการฝ่ายขาย สามารถติดตามการทำงานของฝ่ายขายได้อย่างเป็นระบบ วัดผลได้ พร้อมรายงานสถิติสำคัญที่จะช่วยให้สามารถวางแผนกลยุทธ์ได้อย่างแม่นยำ เข้าใจข้อมูลเชิงลึก (Insights) เช่น Sales Pipeline Reports, Daily Lead Activities รายงาน Performance by Users/Product Lead Insights by Campaign, Lead Insights by Source/Medium, Lost Reasons - Top 5/Details
ภาพตัวอย่างรายงานสถิติด้านการขายและการตลาดของ R-Insights
R-Chat โปรแกรมศูนย์รวมแชทในที่เดียว
ช่องทางการติดต่อออนไลน์จากลูกค้าเข้ามาที่ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือบริการนั้นเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ที่ใช้ในการสื่อสารการขายสินค้าและบริการเหล่านั้น การที่มีการติดต่อหลายช่องทางสร้างความลำบากและความยุ่งยากในการสนทนากับลูกค้า บริษัทฯ จึงพัฒนาโปรแกรมสำหรับการบริหารแชททุกช่องทางในที่เดียวหรือที่เรียกว่า “R-Chat”
โปรแกรม R-Chat รวบรวมทั้งแชทจากหน้าเว็บไซต์, LINE Official Account (LINE OA) และ Facebook Messenger มาไว้บนระบบเดียว เพื่อความง่ายในการบริหารจัดการสนทนากับลูกค้าไม่ให้ตกหล่น และเพิ่มยอดขายในที่สุด
ภาพตัวอย่างการแสดงช่องทางติดต่อสื่อสารที่ถูกรวบรวมไว้ในโปรแกรม R-Chat
นอกจากนี้ โปรแกรม R-Chat ยังสามารถสร้างข้อความตอบกลับอัตโนมัติ และเชื่อมต่อกับโปรแกรมอื่นๆ ของบริษัทฯ เช่น โปรแกรม R-Widget และ โปรแกรม R-CRM เป็นต้น อีกทั้งยังรองรับการเชื่อมต่อ API กับแพลตฟอร์มภายนอก (Third-party Platform) เช่น ระบบ Chatbot ที่สามารถโต้ตอบแชทแบบอัตโนมัติ
Pointspot โปรแกรมระบบสมาชิกสะสมแต้มดิจิทัล
เพื่อช่วยให้การบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM) ประสบความสำเร็จมากขึ้น ผู้ประกอบการควรมีระบบบริหารจัดการสมาชิก ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการตลาดที่ช่วยสร้างความภักดีให้กับลูกค้า (Loyalty Program) บริษัทฯ จึงได้พัฒนาโปรแกรมระบบสมาชิกสะสมแต้มดิจิทัล ที่เรียกว่า “Pointspot” ขึ้นมา เพื่อรองรับการทำบัตรสมาชิกแบบดิจิทัลพร้อมระบบการสะสมแต้มเมื่อซื้อสินค้าและบริการตามที่กำหนด ช่วยกระตุ้นยอดขาย สร้างการซื้อซ้ำจากลูกค้าที่สมัครเป็นสมาชิกของธุรกิจ โดยเมื่อลูกค้าสนใจสมัครสมาชิกเพื่อสะสมแต้มกับธุรกิจ ลูกค้าสามารถใช้โทรศัพท์มือถือสมัครผ่านคิวอาร์โค้ด (QR Code) ที่แสดงอยู่ที่หน้าร้าน หรือสามารถสมัครผ่านลิ้งค์ออนไลน์ โดยกรอกข้อมูลเกี่ยวกับสมาชิก เช่น ชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ เดือนเกิดและปีเกิด เพื่อลงทะเบียนเข้าฐานข้อมูลของโปรแกรม Pointspot และยืนยันการเป็นสมาชิกกับธุรกิจนั้น เมื่อลูกค้าได้รับแต้มสะสมจากธุรกิจดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของธุรกิจก็สามารถป้อนเบอร์โทรศัพท์ และจำนวนแต้มที่จะส่งให้ลูกค้า หลังจากนั้นโปรแกรม Pointspot จะทำรายการ (Transaction) เพิ่มแต้มให้กับลูกค้า พร้อมส่งข้อความแจ้งทาง SMS หรือทางไลน์ โดยลูกค้าสามารถคลิกลิ้งค์ที่แนบมาด้วยเพื่อเช็คแต้มสะสมและรายการของรางวัลได้ผ่านโทรศัพท์มือถือของตัวเองได้ทันที
ภาพตัวอย่างการบริหารจัดการโปรแกรม Pointspot ของผู้ประกอบการผ่านคอมพิวเตอร์
และการใช้งานผ่านโทรศัพท์สมาร์ตโฟนโดยสมาชิกสะสมแต้มของผู้ประกอบการ
นอกจากการสะสมแต้มที่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความภักดีของลูกค้า (Loyalty Program) การสร้างฐานข้อมูลสมาชิกยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถจัดกิจกรรมทางการตลาดในลักษณะต่างๆ ไปยังสมาชิกได้ เช่น การส่งคูปองวันเกิดให้กับลูกค้าที่เกิดในเดือนนั้นๆ เพื่อช่วยสร้างความประทับใจ และช่วยกระตุ้นให้กลับมาใช้บริการ เป็นต้น
นอกจากนั้นโปรแกรม Pointspot ยังมีอีกหลายฟีเจอร์ที่น่าสนใจสำหรับการนำไปใช้พัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า เช่น ของรางวัลสะสมแต้ม ของรางวัลแจกฟรี คูปองต้อนรับ (สำหรับสมาชิกใหม่) คูปองโปรโมชั่น บัตรกำนัล การโอนแต้มให้เพื่อน สมาชิกแนะนำสมาชิก บัตรสมาชิกแบบหลายระดับ เป็นต้น
สิ่งสำคัญสำหรับการสร้างความภักดีในแบรนด์ของลูกค้า ผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องเข้าใจถึงความพึงพอใจและความคิดเห็นต่างๆ ของลูกค้า และสถิติต่างๆ เกี่ยวกับการซื้อสินค้าและบริการ เพื่อจะได้นำมาเป็นข้อมูลในการพัฒนาสินค้าและบริการให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการให้ประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้า นำเสนอสิทธิพิเศษที่ตรงกับความสนใจ เพื่อให้เกิดความประทับใจโปรแกรม Pointspot มีระบบวัดสถิติการใช้บริการของสมาชิกในรูปแบบต่างๆ หลายหลากรายงาน เช่น รายงานความพึงพอใจและความคิดเห็นที่เป็นคำติชมต่างๆ จากลูกค้า รายงานลูกค้าประจำ รายงานความถี่ที่ลูกค้ามาใช้บริการ รายงานลูกค้าที่ใช้จ่ายมากที่สุด เป็นต้น
ภาพตัวอย่างรายงานสถิติการซื้อสินค้าและบริการของสมาชิกบนโปรแกรม Pointspot
Readyplanet All-in-One Platform มีจุดเด่น คือ
- สามารถใช้งานได้ง่าย (Localization for Thai Business) มีฟีเจอร์ที่ออกแบบและพัฒนามาเพื่อธุรกิจไทยโดยเฉพาะ
- แพลตฟอร์มมีประสิทธิภาพสูง (Performance) โดยรองรับการทำการตลาดแบบเฉพาะบุคคล (Micro-Targeting and Personalization), การตลาดแบบอัตโนมัติ (Marketing Automation) และการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics)
- ได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยสารสนเทศ ISO 27001
- ราคาคุ้มค่า (Affordable price)
- มีบริการหลังการขายที่มีคุณภาพ พร้อม Call Center ตลอด 24 ชั่วโมง
Readyplanet All-in-One Platform คือ เทคโนโลยีสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
เราภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของผู้ประกอบการไทยมาตลอด 22 ปี วันนี้ เรดดี้แพลนเน็ต พร้อมแล้ว ที่จะสนับสนุนธุรกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมแล้วที่จะก้าวขึ้นเป็นบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศไทย