7 วิธี เลือกฟอนต์อย่างไร ให้เข้ากับเว็บไซต์คุณ
หากคุณเป็นผู้ประกอบการ ที่ต้องการทำเว็บไซต์ด้วยตัวเอง สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง นอกเหนือจากข้อมูลองค์กร ข้อมูลสินค้าหรือบริการ รวมถึงรูปภาพ สี และโลโก้ของเว็บไซต์ที่คุณจะต้องคำนึงถึงก็คือ “ฟอนต์” หรือรูปแบบตัวอักษรบนเว็บไซต์นั่นเอง
ถ้าคุณลองเปรียบเทียบนิตยสารแฟชั่นกับนิตยสารสำหรับธุรกิจ สิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน นอกเหนือจากรูปภาพที่สื่อออกไปให้ต่างกลุ่มเป้าหมายเข้าใจแล้ว ก็คือฟอนต์นั่นเอง ที่สร้างความแตกต่างให้กับนิตยสารทั้งสองฉบับได้อย่างชัดเจน ซึ่งคุณเองก็สามารถทราบถึงความเหมาะสม ของการใช้ฟอนต์บนเว็บไซต์ โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปเรียนเพื่อเป็นนักออกแบบมืออาชีพเลย
วันนี้ Readyplanet มีคำถามมาให้คุณทดสอบ หากคุณสามารถตอบคำถามเพียง 7 ข้อ เหล่านี้ได้ คุณก็จะสามารถทำความเข้าใจ และเลือกใช้ฟอนต์ที่เหมาะสมกับธุรกิจของคุณได้ไม่ยาก
1. คุณต้องการให้เว็บไซต์มีลักษณะเป็นอย่างไร?
การสร้างเว็บไซต์ เปรียบเสมือนกับการสร้างหน้าร้านออนไลน์ให้ธุรกิจ ไม่ว่าคุณจะต้องการให้ผู้ที่คลิกเข้ามายังเว็บไซต์รู้สึกอย่างไรต่อธุรกิจ คุณก็สามารถใช้ฟอนต์ที่ปรากฎอยู่บนรูปภาพ หรือคำอธิบายที่หน้าเว็บไซต์นำทางพวกเขาได้ เช่น ธุรกิจของคุณเป็นธุรกิจความงาม คุณอาจใช้ฟอนต์ที่ดูหรูหรา มีความโค้งมน เหมาะกับสุภาพสตรีเป็นหลัก
หรือหากธุรกิจของคุณขายสินค้าประเภทเทคโนโลยี เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเลต กล้องถ่ายรูป ฯลฯ คุณก็อาจเลือกใช้ฟอนต์ที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในอนาคต ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับคุณเอง ว่าต้องการวางตำแหน่งของแบรนด์เอาไว้ตรงจุดไหน หากคุณสามารถตอบคำถามในข้อนี้ได้ คุณก็กำลังเข้าใกล้การทำเว็บไซต์ที่ดีไปอีกขั้น
2. คุณต้องการจะสื่อสารกับใคร?
เราอยากให้คุณลองจินตนาการดูว่า กลุ่มลูกค้าของคุณคือใคร? มีลักษณะอย่างไร? ความชอบเป็นแบบไหน? และเว็บไซต์แบบไหนที่พวกเขาจะให้ความสนใจ?
เช่น ลูกค้าของคุณเป็นผู้ชาย อายุ 25-40 ปี ที่มีบุคลิกโลดโผน ชอบท่องเที่ยว และรักการถ่ายภาพ เมื่อคุณทราบเช่นนี้แล้ว มันจะง่ายกว่ากันมากที่คุณจะเลือกฟอนต์ให้เหมาะสมกับพวกเขา เพราะคุณสามารถตัดฟอนต์ประเภทตัวหนังสือโค้งมนสวยงาม หรือฟอนต์ลายมือแบบเด็ก ๆ ออกไปจากความคิดได้เลย
3. เว็บไซต์ของคุณเป็นเว็บไซต์ประเภทใด?
หากเว็บไซต์ของคุณเป็นร้านค้าออนไลน์ ที่ใช้ข้อความในการจูงใจลูกค้าเพื่อการปิดการขาย ฟอนต์ที่เหมาะสมที่คุณจะเลือกใช้ ควรจะเป็นฟอนต์ตัวอักษรที่มีความหนักแน่น ชัดเจน และสร้างแรงบันดาลใจ คุณไม่ควรใช้ฟอนต์หวัด หรือฟอนต์ที่มีลักษณะเหมือนลายมือที่ปุ่ม “Buy Now” เพราะสมองของผู้บริโภคออนไลน์แทนตัวอักษรเป็นคำพูด แทนฟอนต์เป็นเสียง การใช้ตัวอักษรที่เอียง หวัด หรือมีลูกเล่น จะทำให้ลูกค้ารู้สึกไม่มั่นคง และรู้สึกว่าคุณไม่มีความจริงจังต่อการขายได้
แต่ถ้าหากว่าเว็บไซต์ของคุณ เป็นบล็อกให้ความรู้ หรือเป็นเว็บไซต์สำหรับโปรโมทองค์กร คุณสามารถเลือกใช้ฟอนต์ที่มีลูกเล่นมากขึ้น เพื่อเพิ่มความสนิทสนมกับผู้อ่าน ให้เหมือนว่าคุณกำลังพูดกับพวกเขาอย่างเป็นมิตร แต่ถ้าเว็บไซต์ของคุณเป็นเว็บไซต์ในองค์กรรัฐบาล หรือเว็บไซต์ที่ให้ความรู้วิชาการ ฟอนต์ทางการก็อาจเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับความน่าเชื่อถือขององค์กร
4. จะใช้ฟอนต์ Serif หรือ Sans Serif ดีกว่ากัน?
ความแตกต่างของการใช้ฟอนต์ Serif และ Sans Serif นั้น เป็นสิ่งที่ทราบกันดีในวงการนักออกแบบ แต่ถ้าหากคุณเป็นผู้ประกอบการ ที่ไม่ได้มีความรู้ด้านศิลปะ หรือการออกแบบมากมายนัก วันนี้ เราจะมาอธิบายความแตกต่างของฟอนต์ทั้งสองแบบให้ได้เข้าใจกัน
- แบบ Serif (เซริฟ) คือแบบอักษรที่มีขีดเล็ก ๆ อยู่ตรงปลายสุด ดังที่ปรากฏในตัวอักษรตระกูล Times แบบอักษรชนิดนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าแบบโรมัน (roman) ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากอักษรที่จารึกไว้ในหินของอาณาจักรโรมัน เซริฟมีส่วนช่วยในการกวาดสายตาไปตามตัวอักษร ทำให้อ่านง่าย และนิยมใช้สำหรับพิมพ์เนื้อความ
- แบบ Sans Serif (ซานส์เซริฟ) จะมีลักษณะที่ตรงข้ามกัน คือไม่มีขีดที่ปลายอักษร และมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า แบบกอทิก (gothic) อักษรชนิดนี้ไม่เหมาะกับการเป็นเนื้อความ แต่เหมาะสำหรับใช้พาดหัวหรือหัวเรื่องที่ต้องการเรียกความสนใจ ผ่านการมองเพียงแค่ครั้งเดียว ดังนั้น ขณะที่คุณพิจารณาว่าจะใช้ฟอนต์ใดบนเว็บไซต์ ควรทำความเข้าใจการใช้งานของมันก่อน
5. ลูกค้าจะสามารถอ่านฟอนต์เหล่านี้ออกไหม?
เพื่อความสวยงาม แน่นอนว่าคุณสามารถใช้ฟอนต์ที่มีลูกเล่นเพื่อดึงดูดความสนใจได้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว บริเวณเนื้อหาหลักของเว็บไซต์ ควรใช้ฟอนต์ที่อ่านง่าย ไม่หวัด ขนาดเล็ก หรือตัวอักษรติดกันมากจนเกินไป เพราะถึงแม้ว่าเนื้อหาบทหน้าเว็บของคุณจะน่าสนใจแค่ไหน แต่ถ้าฟอนต์อ่านออกได้ยากเกินไป ก็ทำให้ผู้อ่านหมดความสนใจได้ง่าย ๆ เช่นกัน
6. เว็บไซต์ของคุณใช้ข้อความตัวหนามากเกินไปหรือไม่?
ฟอนต์ที่ดูหนา ใหญ่โต และชัดเจน อาจเหมาะสมในการนำมาพาดหัว หรือเขียนข้อความสั้น ๆ ที่จะสะกดความสนใจของผู้อ่าน แต่อาจไม่เข้ากันเสียเลยกับการนำมาพิมพ์เป็นข้อความเพื่อการอภิปรายหรือให้ความรู้ เพราะฟอนต์เหล่านั้นถูกออกแบบมาให้ผู้อ่านรู้สึกถึงความขึงขัง และชัดเจน
การใช้ฟอนต์ลักษณะนั้นในทุก ๆ ข้อความ จะทำให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนคุณกำลังตะโดนใส่หน้าพวกเขาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งแน่นอนว่านั่นไม่ใช่เป้าหมายที่คุณต้องการจะสื่อสาร ลองสำรวจเว็บไซต์ของคุณดูให้ดี หากคุณพบว่ามีจุดไหน ที่ใช้ฟอนต์ตัวหนามากจนเกินไป ลองปรับเปลี่ยนเป็นฟอนต์ในลักษณะที่บางลง แล้วเว็บไซต์ของคุณจะสามารถอ่านได้อย่างสบายตามากขึ้น
7. ฟอนต์ของคุณใช้ได้ดีกับทุกแพลตฟอร์มหรือเปล่า?
เมื่อคุณตรวจสอบว่า ฟอนต์ของคุณสวยงามบนหน้า Desktop เรียบร้อยแล้ว สิ่งสำคัญที่คุณจะต้องทำต่อไปก็คือ ตรวจสอบว่าฟอนต์ที่คุณเลือก เมื่อแสดงผลบนสมาร์ทโฟน และแท็บเลต สามารถแสดงผลได้ดีหรือเปล่า
เนื่องจากปัจจุบันนี้ คนไทยใช้โทรศัพท์มือถือในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากเป็นอันดับ 1 ทำให้ผู้ประกอบการที่มีเว็บไซต์ ต้องคำนึงถึงการแสดงผลบนโมบายล์เป็นหลัก การเลือกใช้ Responsive Web Design จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับคุณ เพราะคุณจะสามารถควบคุมการแสดงผล ทั้งเทมเพลต ภาพ และฟอนต์ให้แสดงผลได้ดีในทุก ๆ หน้าจอ
หากคุณเข้าใจในจากทั้ง 7 ข้อ ดังกล่าว การทำเว็บไซต์ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป หากคุณกำลังมองหาแพลตฟอร์มสร้างเว็บไซต์ที่ตอบโจทย์ได้กับทุกธุรกิจ Readyplanet ขอแนะนำ R-Web แพลตฟอร์มสร้างเว็บไซต์ ที่มาพร้อมเครื่องมือการตลาดแบบ All-in-One ทำเว็บไซต์ง่าย ออกแบบเว็บไซต์สวย พร้อมใช้ รองรับการทำ SEO