7 วิธี พาธุรกิจ SME เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภค บนโลกดิจิทัล
“ในโลกออนไลน์ ปลาใหญ่ไม่ได้กินปลาเล็กเสมอไป” ประโยคนี้ ได้รับการพิสูจน์ให้เห็นมาแล้ว จากธุรกิจ SME มากมายหลายเจ้า ที่สามารถสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ ให้ผู้คนทั่วไปสนใจ และเกิดความเชื่อถือ จนวางใจที่จะเลือกใช้สินค้า และบริการของพวกเขา แทนที่จะเลือกซื้อสินค้าที่มาจากแบรนด์ขนาดใหญ่ ที่รู้จักกันทั่วไปในตลาด ซึ่งการจะเป็นธุรกิจ SME ที่สามารถครองใจผู้บริโภคได้ ถือเป็นความฝันของผู้ประกอบการแทบทุกคนเลยใช่ไหมล่ะคะ?
ในคอลัมน์ Content Marketing วันนี้ เราได้นำเอาวิธีการสร้างแบรนด์บนโลกออนไลน์ ให้ได้รับความสนใจ และการจดจำ จนกระทั่งพัฒนาไปเป็นความเชื่อถือต่อผู้บริโภค ซึ่งแต่ละขั้นตอนนี้ ทำได้ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไป ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันเลยค่ะ
1. ใครเป็นลูกค้าของคุณ ( Segmentation )
การแบ่งลูกค้า คุณสามารถแบ่งได้ง่ายๆ ตามลักษณะทางกายภาพที่มองเห็นได้ เช่น อายุ เพศ การศึกษา อาชีพ รายได้ ฯลฯ คุณก็สามารถทราบได้แล้วค่ะว่าใครจะเป็นลูกค้าของคุณบ้าง แต่ถ้าจะให้ได้ผลสำเร็จที่มากกว่านั้น คุณควรแบ่งลูกค้าตามความชอบ การใช้ชีวิต อุปนิสัย และความถี่ของการใช้สินค้าของพวกเขาดูค่ะ
ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์รังนกแท้ ใช้วิธีการโฆษณาด้วยภาพของคนวัยทำงาน และผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกว่า การมอบสุขภาพที่ดีให้กับคนที่เคารพรัก เช่น พ่อ แม่ ญาติผู้ใหญ่ หรือคนป่วย ก็ควรจะมอบรังนกแท้ให้เป็นของฝาก ส่งผลให้ทุกวันนี้สินค้าประเภทนี้ยอดขายส่วนใหญ่เกิดจากการซื้อฝาก ไม่ได้ซื้อเพื่อรับประทานเอง
2. เขาเหล่านั้นคิดอะไร ( Consumer Insight )
การหา Consumer Insight ก็คือการทำความรู้จักกับพฤติกรรมและความต้องการในหลายๆ แง่มุมของผู้บริโภค โดยส่วนมากแล้ว เมื่อคุณทำการแยกประเภทลูกค้า หรือ Segmentation ออกมาเรียบร้อยแล้ว คุณก็ควรหา Insight ของลูกค้าแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นสัมภาษณ์ลูกค้ากลุ่มตัวอย่าง หรือจัดทำแบบสอบถามออนไลน์ ส่งไปลักษณะของอีเมลเพื่อขอความร่วมมือ และอาจมีของขวัญตอบแทนเล็กๆน้อยๆส่งไปที่บ้านของลูกค้าที่ทำการตอบแบบสอบถามครบถ้วนทั้งหมด
หรือคุณใช้วิธีที่ง่ายกว่า ด้วยการเข้าไปอ่านเว็บบอร์ดต่างๆ ที่อาจมีเขียนเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการของคุณ หรือสินค้าหรือบริการที่มีลักษณะใกล้เคียงกับแบรนด์คุณ ว่าผู้บริโภคชม หรือวิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องใด เพื่อนำมาปรับใช้กับสินค้าหรือบริการของคุณต่อไปก็ได้ค่ะ
3. ลองใช้ประโยชน์จาก Keywords Planner
การใช้ Keywords Planner ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยกำหนดคำค้นหาของ Google Adwords นั้นเป็นเครื่องมือของการได้ข้อมูลชั้นดีเลยล่ะค่ะ เพราะคุณจะทราบได้เลยว่า ลูกค้าบนโลกออนไลน์ของคุณ ค้นหาสินค้าของคุณด้วยคำว่าอะไรบ้าง สิ่งที่เขาใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจเลือกคืออะไร เช่น โรงเรียนใกล้บ้าน โรงเรียน 3 ภาษา โรงเรียนค่าเทอมถูก โรงเรียนคอมพิวเตอร์ โรงเรียนคริสต์ เป็นต้น เมื่อคุณทราบแล้วว่า อะไรในแบรนด์ของคุณที่ดึงดูดลูกค้าได้มากที่สุด คุณก็นำสิ่งนั้นมาประยุกต์ใช้ เพื่อการทำโฆษณาต่อไปได้ค่ะ
4. สร้าง Brand DNA
การสร้าง Brand DNA นั้น คือการวางแผนว่าแบรนด์ของคุณจะยืนอยู่จุดไหน และสร้างผลลัพท์อะไรให้กับตลาด DNA ของแบรนด์เป็นสิ่งที่ทั้งองค์กรจะต้องรับทราบ และนำเป็นจุดหลักของกลยุทธ์ในการบริหารสินค้าและแบรนด์ สิ่งที่คุณใช้กำหนดเกี่ยวกับแบรนด์นั้น ถือเป็นหลักในการวางแผนเกี่ยวกับธุรกิจเลยว่าเราจะมุ่งไปทางไหน อาทิเช่น
แบรนด์อย่าง Villa Market จะคัดสรรแต่สินค้าที่หายาก นำเข้าจากต่างประเทศ ราคาก็จะสูง ทำเลที่ตั้งมักอยู่ใจกลางเมือง บริเวณย่านธุรกิจ ในขณะที่แบรนด์ Tesco Lotus จะมุ่งเน้นไปที่ราคา เพื่อให้ตรงใจแม่บ้านส่วนใหญ่ที่มีรายได้ปานกลาง มีสินค้าให้เลือกมาก และยังจัดให้มีโปรโมชั่นมากมาย ซึ่งทั้งสองแบรนด์นี้ แม้ว่าจะเป็นแบรนด์ที่ทำธุรกิจประเภทเดียวกัน แต่ก็มีความต่างกันโดยสิ้นเชิงเลยค่ะ
ถ้านำมาเปรียบเทียบกับโลกดิจิทัล คุณก็เพียงเปลี่ยนจากห้างสรรพสินค้าให้เป็นเว็บไซต์หรือเพจของคุณแล้วลองนำเอาแนวคิดข้างต้นไปปรับใช้ หาทิศทาง และลูกค้าที่แบรนด์ของคุณต้องการจะสื่อสารให้ชัดเจนก่อน จากนั้นก็ทำการโปรโมทไปที่คนเหล่านั้น เพียงเท่านี้คุณก็สามารถสร้างแบรนด์ดีเอ็นเอที่มั่นคงได้แล้วค่ะ
5. การวัดความสำคัญของแบรนด์ ( Impact )
ในการสร้าง DNA ของแบรนด์นั้น ไม่ใช่ทุกครั้งที่ลูกค้าจะรู้สึกถึงความเยี่ยมยอดของแบรนด์เท่าที่เจ้าของแบรนด์เองเป็นคนรู้สึก แต่ในโลกออนไลน์นั้นง่ายกว่าโลกออฟไลน์มาก เพราะทันทีที่คุณรู้สึกว่าคนให้ความสำคัญกับแบรนด์ของคุณน้อยลง ตัวตนของแบรนด์คุณไม่ตอบโจทย์กับกลุ่มลูกค้าที่คาดหวัง คุณก็สามารถทำการแก้ไข ปรับปรุงเว็บไซต์ หรือสื่อสังคมออนไลน์ที่มีแบรนด์ของคุณไปปรากฎอยู่ได้ทันที เพราะสื่อออนไลน์เป็นสื่อที่ปรับตัวได้รวดเร็วมาก หากนำมาเทียบกับออฟไลน์ หรือถ้าหากคุณอยากจะสร้างแบรนด์ใหม่ ก็สามารถทำได้ ด้วยต้นทุนทางธุรกิจที่ไม่ได้สูงมากเท่ากับการมีหน้าร้านค่ะ
6. ศึกษาคู่แข่ง ( Competitor Benchmarking )
ในโลกออนไลน์นั้น คุณสามารถหาคู่แข่งได้ไม่ยากเลยค่ะ เพียงแค่ทำการเสิร์ชประเภทสินค้าของคุณใน Google ชื่อเว็บไซต์ทั้งหมดที่ปรากฎขึ้นมานั่นแหละค่ะ คือคู่แข่งของคุณ ให้ลองเข้าไปดูว่า แต่ละแบรนด์ มีวิธีการโปรโมทสินค้า หรือบริการของตนอย่างไร เพื่อที่คุณจะได้นำมามองหาข้อแตกต่างกับแบรนด์ของคุณ แล้วเปลี่ยนความต่างนั้นให้เปเนข้อดี ในการที่ลูกค้าจะจดจำแบรนด์ของคุณได้มากกว่าเจ้าอื่นค่ะ
7. การใช้เทคโนโลยี ( Use of Technology )
การจะสร้างแบรนด์บนโลกดิจิทัล การจะไม่พูดถึงเรื่องของการใช้เทคโนโลยีเลยก็คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะก่อนที่คุณจะเริ่มทำธุรกิจออนไลน์ คุณจะต้องศึกษาเกี่ยวกับเครื่องมืออนไลน์ต่างๆให้ดีเสียก่อนนะคะ หากคุณจะทำธุรกิจผ่านเว็บไซต์ คุณอาจลองศึกษาเว็บไซต์สำเร็จรูป ที่ง่ายกว่าในเรื่องของการจัดวางหน้าเว็บไซต์ อีกทั้งคุณยังสามารถแก้ไขบทความ หรือหน้าสินค้าต่างๆบนเว็บไซต์ได้เองเลยค่ะ
นอกจากนั้น Social Media เองก็เป็นอีกสื่อหนึ่งที่คุณต้องศึกษา เพื่อเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ หากคุณต้องการจะเปิดเพจ Facebook แล้วทำโฆษณากับกลุ่มลูกค้าผู้ใช้ Facebook ถึงแม้ว่าคุณจะเลือกใช้บริการทำโฆษณากับองค์กรที่น่าเชื่อถือ แต่การเข้าใจถึงกระบวนการต่างๆในการทำโฆษณาอย่างคร่าวๆ ก็จะช่วยธุรกิจคุณได้มากทีเดียวค่ะ และสุดท้ายที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ Smartphone ค่ะ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่เข้าถึงคนได้เกือบ 24 ชั่วโมงจริงๆ การโปรโมทแบรนด์ผ่าน Smartphone ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นในปัจจุบัน และส่งผลต่อเนื่องไปยังอนาคตนี้แน่นอนเลยค่ะ
และทั้งหมดนี้ก็คือวิธีการที่ผู้ประกอบการ จะสามารถสร้างแบรนด์ดิจิทัลของตน ให้เข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภคออนไลน์ได้ หากคุณทำตามขั้นตอนเหล่านี้ได้ รับรองว่า คุณจะสามารถแย่งชิงพื้นที่ทางการตลาดได้ โดยไม่แพ้บริษัทขนาดใหญ่เลยล่ะค่ะ
April 19, 2016
Watsanan Saikam
www.ReadyPlanet.com