ไขข้อข้องใจ การทำเว็บไซต์ภาษาที่สอง ตอนที่ 1
หนึ่งในข้อดีของการใช้ "เว็บไซต์" นำเสนอสินค้า บริการ หรือประชาสัมพันธ์ธุรกิจให้เป็นที่รู้จักก็คือ "ไร้พรมแดน" นะคะ เพราะเพียงแค่มีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ผู้เข้าชมสามารถคลิกเข้าสู่เว็บไซต์ของคุณได้จากทั่วทุกมุมโลกในทุกๆ เวลา
และด้วย "เว็บไซต์" นี่เอง ที่จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการ สร้างและขยายโอกาสในการทำธุรกิจ ให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล ได้ไม่ยากเลยค่ะ
สำหรับท่านเจ้าของเว็บไซต์ที่ทำเว็บไซต์หลักเป็นภาษาไทย ก็คงจะมีข้อสงสัยว่า แล้วถ้าจะทำ "เว็บไซต์สองภาษา" หรือทำให้เว็บไซต์ของท่านมีเนื้อหาในภาษาอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาจากเว็บไซต์หลักนั้น จะต้องทำอย่างไร ใช้เครื่องมือหรือมีวิธีใดบ้าง คอลัมน์ Website Knowledge วันนี้ จึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ "การทำเว็บไซต์ภาษาที่สอง" (หรือหลายภาษา) มาแนะนำและให้เลือกใช้ได้ตามความสะดวกเลยค่ะ
แปลภาษาบนหน้าเว็บไซต์เร็วทันใจด้วย "เครื่องมือแปลภาษา"
วิธีแรกที่ทำง่ายและใช้ได้รวดเร็วก็คือ ใช้เครื่องมือแปลภาษาบนหน้าเว็บไซต์อัตโนมัติ ซึ่งปัจจุบันก็มีให้บริการ ที่เป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันดี คงจะเป็น "Google Translate" ซึ่งอำนวยความสะดวกให้กับท่านเจ้าของเว็บไซต์มากๆ
เพียงนำโค้ดมาติดที่หน้าเว็บไซต์ ก็จะแสดงเครื่องมือแปลภาษา ให้ผู้เข้าชมสามารถคลิกเลือกแปลภาษาที่ต้องการได้มากมายหลายภาษาทั่วโลก
ตัวอย่างการแสดงผล เครื่องมือแปลภาษา Google Translate บนหน้าเว็บไซต์
สมาชิก ReadyPlanet สามารถดูรายละเอียด วิธีการติดตั้งเครืองมือแปลภาษา Google Translate
ใน เว็บไซต์ระบบ VelaClassic คลิกที่นี่ และ เว็บไซต์ระบบ VelaEasy คลิกที่นี่ ค่ะ
แต่อย่างไรก็ตาม การแปลภาษาอัตโนมัติของเครื่องมือเหล่านี้ ก็อาจมีข้อจำกัดในส่วนที่ว่า สามารถแปลภาษาได้เป็นบางคำเท่านั้น! และหากมีคำที่เฉพาะเจาะจงอยู่ด้วยแล้วอาจทำให้ แปลรูปประโยคออกมาไม่สมบูรณ์ และความหมายที่ผิดเพี้ยนได้
ซึ่งการป้องกันการเกิดปัญหาข้างต้นที่ดีที่สุดก็คือ การแปลข้อมูลให้เป็นภาษาต่างประเทศด้วยบุคคล นะคะ
ไม่ว่าท่านจะแปลเอง หรือจ้างผู้เชี่ยวชาญให้บริการแปลภาษาก็ตาม จะช่วยให้ได้รายละเอียดที่ถูกต้องและสื่อความหมายได้ชัดเจน ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจ ในการนำเสนอข้อมูลสินค้าและบริการแก่ผู้เข้าชมเว็บไซต์ในระดับสากลค่ะ
"แยกเว็บไซต์ภาษาที่สอง" เพื่อข้อมูลถูกต้องแม่นยำ
เมื่อเตรียมข้อมูลสินค้าหรือบริการเป็นภาษาที่สองแล้ว ก็สามารถนำไปใส่บนเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่ได้แล้วค่ะ ซึ่งส่วนนี้จะเป็น วิธีที่สอง คือ การสร้างเว็บไซต์ภาษาที่สอง แยกออกมาจากเว็บไซต์หลักค่ะ
โดยใช้ ชื่อโดเมน (ชื่อเว็บไซต์) ที่เรียกว่า "Subdomain" คือ การจดชื่อโดเมนย่อยภายในโดเมนเนมหลัก แต่การแสดงผลของเว็บไซต์ที่ใช้ Subdomain จะมีค่าเทียบเท่ากับเว็บไซต์หลักปกติเลยค่ะ
อธิบายง่ายๆ เกี่ยวกับ Subdomain ก็คือ การเปิดเว็บไซต์ธรรมดาเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งเว็บ เพื่อนำเสนอข้อมูลในภาษาต่างประเทศ แต่ทั้งโดเมนเนมจริงและ Subdomain ยังคงมีความเกี่ยวข้องกัน เช่น เว็บไซต์ abc.com มีการแสดงผลเนื้อหาบนหน้าเว็บไซต์เป็นภาษาไทย และต้องการทำเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเหมือนเดิมแต่เป็นภาษาอังกฤษ จึงใช้ Subdomain เป็น eng.abc.com หรือ english.abc.com ได้ตามต้องการ หากต้องทำเว็บไซต์เวอร์ชั่นภาษาญี่ปุ่นเพิ่มอีก ก็สามารถตั้งชื่อ Subdomain เป็น jp.abc.com ได้ เป็นต้น |
เหตุผลที่ควรทำเว็บไซต์ภาษาที่สองแยกจากเว็บไซต์หลัก
1. ความเร็วในการเข้าถึงข้อมูล โดยปกติการเลือก เช่าพื้นที่เว็บไซต์ (Hosting) หรือพื้นที่เก็บข้อมูลเว็บไซต์ของท่าน ให้ดูว่ากลุ่มเป้าหมายของท่านอยู่ที่ประเทศไหนเป็นหลัก เช่น หากลูกค้าของท่านอยู่ประเทศจีน ก็ควรเลือกเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ประเทศจีน เพราะจะทำให้ลูกค้าของท่านที่อยู่ประเทศจีนเปิดเว็บไซต์ได้เร็ว
ดังนั้น หากทำเว็บไซต์ภาษาที่สองแยกออกจากเว็บไซต์หลัก ก็สามารถเลือกใช้ผู้ให้บริการโฮสต์ติ้งใกล้เคียงกับกับพื้นที่ที่กลุ่มเป้าหมายอยู่ได้
2. ความง่ายและสะดวกในการจัดการข้อมูล หากในหนึ่งเว็บไซต์มีหลายภาษา คนดูแลเว็บไซต์ก็ต้องจัดวางเมนูให้ดีและจดจำการผูกลิงค์เชื่อมโยงภายในเว็บไซต์ของแต่ละกลุ่มภาษาให้แม่นยำ หากเว็บไซต์มีข้อมูลจำนวนมากก็อาจทำให้เกิดความสับสน โอกาสที่จะผูกลิงค์ผิดพลาดก็มีมากขึ้น และอาจส่งผลถึงผู้เข้าชมเว็บไซต์ที่เข้าถึงข้อมูลแต่ละภาษาได้ยากเช่นกัน
สุดท้าย ไม่ว่าคุณจะเลือกใช้วิธีใดในการทำเว็บไซต์ภาษาที่สองหรือเว็บหลายภาษา สิ่งที่อยากให้คำนึงถึงมากที่สุด ก็คือ ความสะดวกในการเข้าถึงเว็บไซต์ของผู้ชม เป็นหลักนะคะ ทั้งการแสดงผลที่รวดเร็ว ข้อมูลที่อ่านง่าย ความหมายไม่ผิดเพี้ยน ย่อมเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้ชมเลือกที่จะหยุดและอยู่ในเว็บไซต์ของคุณอย่างแน่นอนค่ะ
เรื่องราวของการทำเว็บไซต์หลายภาษายังไม่จบเพียงเท่านี้นะคะ ในตอนต่อไป เราจะแนะนำวิธี สร้างลิงค์เชื่อมโยงระหว่างเว็บไซต์ เพื่อให้ผู้ชมสามารถคลิกเข้าสู่หน้าเว็บไซต์ในภาษาที่ต้องการได้ ซึ่งเป็นเทคนิคง่ายๆ สำหรับท่านที่ต้องการจะทำเว็บไซต์ในภาษาอื่นๆ แบบ Subdomain ค่ะ ถ้าอยากทราบว่ามีขั้นตอนอย่างไร ต้องไม่พลาด คอลัมน์ Website Knowledge นะคะ
Jittima Suebsook
www.ReadyPlanet.com