Content Marketing : ทำเว็บไซต์อย่างไร? ให้ถูกใจ Panda กับ Penguin สอง Filters จาก Google เพื่อให้เว็บไซต์ไม่ถูกลงโทษ! (ตอนที่ 1)
ใครๆ ก็อยากให้เว็บไซต์ติดอันดับที่ดีบนหน้า Google ใช่ไหม? เพราะนอกจากจะทำให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักบนโลกออนไลน์แล้ว การติดอันดับที่ดีนั้นยังช่วยสร้างโอกาสในการเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจได้อีกด้วย
นอกจากการใส่ keywords หรือ คำที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในตำแหน่งต่างๆ บนเว็บไซต์จะช่วยให้เว็บติดอันดับที่ดีแล้ว การทำให้เว็บไซต์ถูกใจ Google Algorithmic Filters ก็สำคัญเช่นกัน เพราะจะให้เว็บไซต์ปลอดภัยจากการถูกลดอันดับจาก Google ซึ่งแม้ว่า Google Algorithmic Filters นั้นจะเปิดตัวมาได้สักระยะแล้ว แต่ก็ยังเป็นที่รู้จักไม่มากนักสำหรับคนไทย ทำให้เว็บไซต์ธุรกิจหลายเว็บพลาดโอกาสติดอันดับที่ดีบน Google เพราะเผลอทำผิดกฎ Google Algorithmic Filters เข้าแบบไม่รู้ตัว
Content Marketing วันนี้จึงมี Google Panda หนึ่งใน Google Algorithmic Filters มาแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักกัน
Google Panda คืออะไร?
Google Panda คือ เวอร์ชันหนึ่งของ Google Algorithmic Filter ที่ถูกออกแบบมาเพื่อ ลงโทษเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่มีคุณภาพ หรือเนื้อหาจำพวก Content Farm ที่เกิดจากการที่เจ้าของเว็บไซต์ไปจ้างให้ผู้อื่นเขียนเนื้อหาบทความ เพื่อนำมาลงบนเว็บไซต์เป็นจำนวนมาก โดยไม่สนใจคุณภาพของเนื้อหา หรือคุณประโยชน์ที่ผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์จะได้รับเมื่อได้อ่านเนื้อหาเหล่านั้น
ส่วนเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเป็นประโยชน์ต่อลูกค้า ก็จะได้คะแนนจาก Google Panda ไปค่ะ ดังนั้น อาจจะสรุปง่ายๆ ว่า Google Panda คือ เครื่องกรองคุณภาพเนื้อหาบนเว็บไซต์ นั่นเอง!
แล้วทำอย่างไรดี? ให้ถูกใจ Google Panda
เพราะ Google Panda มุ่งเน้นตรวจสอบคุณภาพของเนื้อหาในเว็บไซต์เป็นหลัก ดังนั้นก่อนเขียนบทความ หรือนำข้อมูลต่างๆ มาจัดวาง นำเสนอภายในเว็บไซต์ เจ้าของเว็บไซต์ควรคำนึงถึงหลักการ 7 ข้อนี้ เพื่อเว็บไซต์จะได้ถูกใจ เจ้า Google Panda
1. เนื้อหาดี มีคุณภาพ
อย่างที่รู้กันว่า Google Panda ชอบเนื้อหาที่ดี มีคุณภาพ ดังนั้นเจ้าของเว็บไซต์ ควรนำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ อย่างเรื่องที่ผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์อยากรู้ สนใจ หรือเนื้อหาเกี่ยวกับธุรกิจที่เชื่อถือได้ ไม่ใช่ข้อมูลที่ไม่มีสาระ หรือที่เรียกว่า เนื้อหาขยะ (garbage content)
2. ไม่ไปลอกเรื่องราวของคนอื่นมา
การคัดลอกเนื้อหาของผู้อื่น แล้วนำมาจัดวางไว้บนเว็บไซต์ของตัวเอง เป็นวิธีที่สะ
ดวกและง่ายในการสร้างเนื้อหา แต่ก็เป็นสิ่งที่ Google Panda ไม่ชอบ ดังนั้น เจ้าของเว็บไซต์ควรหลีกเลี่ยงการสร้างเนื้อหาด้วยวิธีคัดลอกเนื้อหาของผู้อื่นมาวางไว้ในเว็บไซต์ของตนเอง เพื่อไม่ให้เว็บไซต์โดน Google Panda ลงโทษ ทั้งยังปลอดภัยเรื่องลิขสิทธิ์ต่างๆ อีกด้วย
3. เป็นผู้สร้างเนื้อหาเอง
การเริ่มต้นเป็นผู้สร้างเนื้อหาเอง เจ้าของเว็บไซต์อาจทำได้โดย เริ่มจากการลงมือเขียนในสิ่งที่ตนเองถนัด หรือเชี่ยวชาญชำนาญก่อน แล้วจึงพัฒนาเนื้อหาให้มีประโยชน์ มีความน่าสนใจ น่าอ่าน ชวนติดตามยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ และนอกจากจะถูกใจ Google Panda แล้ว เนื้อหาที่ดี มีประโยชน์ยังถูกใจผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ จนอาจทำให้เกิดการส่งต่อเนื้อหาของนั้นๆ ได้อีกด้วย
4. ลดอัตราการเกิด Bounce Rate
Bounce Rate คือ อัตราของผู้เยี่ยมชมที่เข้ามายังหน้าเว็บของเรา โดยที่ไม่ได้คลิกต่อไปที่ไหนเลย หรือออกไปจากเว็บไซต์ทันที ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้เยี่ยมชมอยู่ในเว็บไซต์ธุรกิจไม่นานนั้น นอกจากจะเพราะเนื้อหาภายในเว็บจะไม่น่าสนใจ ไม่เป็นประโยชน์แล้ว เว็บไซต์ที่ต้องใช้เวลาดาวน์โหลดนาน หรือ แสดงผลไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ก็อาจเป็นอีกปัจจัย ดังนั้นเจ้าของเว็บไซต์จึงควรตรวจสอบการแสดงผลของเว็บไซต์ และปรับปรุงให้เว็บไซต์ดาวน์โหลดข้อมูลอย่างรวดเร็ว ทันใจผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์อยู่เสมอ
5. เข้าถึงง่าย
เว็บไซต์ที่เข้าถึงยาก มีการจัดแบ่งข้อมูลไม่เป็นหมวดหมู่ชัดเจน ก็ไม่เป็นที่ถูกใจทั้ง Google Panda และ ผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์เลยนะคะ ดังนั้นเจ้าของเว็บไซต์จึงควรจัดเรียงข้อมูลในเว็บไซต์ให้ดี, ทำ site map ให้เข้าถึงง่าย ไม่ซับซ้อน, จัดหมวดเนื้อหาให้ชัดเจน ตลอดจนจัดรูปแบบการนำเสนอที่ดี ที่สวยงามนะคะ
6. อย่าใส่แต่ keywords
การมี keywords ในเนื้อหา บทความต่างๆ ช่วยให้เว็บไซต์ติดอันดับที่ดีบน Google ได้ก็จริงนะคะ แต่ไม่ได้หมายความว่า เจ้าของเว็บไซต์ควรใส่แต่ keywords ลงไปในเนื้อหาโดยไม่ต้องคำนึงถึงความหมาย เนื่องจากเนื้อหาที่มีแต่ keywords ประกอบกันจนไม่สามารถทำความเข้าใจได้นั้น จะส่งผลให้เว็บไซต์เสี่ยงโดน Google Panda ลงโทษเป็นอย่างมาก ทั้งยังทำให้ผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ไม่พอใจ เลือกปิดเว็บไซต์ธุรกิจในเวลาอันรวดเร็วได้อีกด้วยนะคะ
7. เลือกใช้ keywords ที่หลากหลาย
การใช้ keywords ที่หลากหลาย จะช่วยให้ Google Panda ให้คะแนนแก่เว็บไซต์ธุรกิจของคุณเช่นกัน ซึ่ง keywords ที่จะเลือกนำมาใช้นั้น ควรเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ หรือสินค้า ก่อนจะนำคำเหล่านั้นมาสอดแทรกในเนื้อหาบนเว็บไซต์ แต่อย่าลืมว่า เนื้อหาที่มีดีนั้นต้องความหมายชัดเจน ที่ผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์เข้าใจได้อีกด้วย
นี่เป็นวิธีการสร้างเนื้อหาบนเว็บไซต์ 7 ข้อ ที่เจ้าของเว็บควรคำนึง เพื่อให้เว็บไซต์ถูกใจ Google Panda แล้วเว็บไซต์ธุรกิจของคุณจะถูกจัดในอันดับที่ดีและปลอดภัยจากการถูกลงโทษ หรือลดอันดับจาก Google แน่นอน
แล้วอาทิตย์หน้า Content Marketing จะพาไปดู อีกหนึ่ง Google Algorithmic Filters ที่เป็นประโยชน์ต่อเว็บไซต์ในการติดอันดับที่ดีบน Google ที่เจ้าของเว็บอย่างคุณไม่รู้ไม่ได้!
October 24, 2014
Patchanie Paugsopathai
www.ReadyPlanet.com