จิตวิทยา กับ มาร์เกตติ้ง : 10 อารมณ์กระตุ้นยอดขาย ให้ได้จากผู้บริโภค


มนุษย์
มักคิดเสมอว่า ตนเองเป็นสิ่งมีชีวิตที่ตัดสินใจทุกอย่างด้วยการใช้หลักการและเหตุผลมารองรับ การจะตัดสินใจซื้อสินค้า หรือบริการใดก็ตาม ก็มักจะเปรียบเทียบทั้งราคา และผลประโยชน์ที่จะได้รับก่อนเป็นอันดับแรก

แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่เป็นกำลังหลัก ที่คอยผลักดันให้เราตัดสินใจอะไรสักอย่าง มักเป็นอารมณ์ และความรู้สึกต่างหากล่ะคะ

เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการ และนักการตลาดดิจิทัลควรให้ความสนใจ นอกเหนือจากเรื่องเทรนด์แล้ว คุณอาจเคยได้ยินเรื่องของการทำ CRM (Customers Relationship Management) หรือ การรักษาความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า

 

แต่เดิม คุณอาจแค่ฝึกให้ตนเองทำความเข้าใจ และหาแนวทางรับมือกับอารมณ์ของลูกค้า ด้วยความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของคุณ แต่รู้หรือไม่คะ? ว่าคุณสามารถที่จะควบคุมอารมณ์ และความรู้สึกของลูกค้า ให้เป็นไปตามที่แบรนด์ของคุณต้องการได้

ซึ่งอารมณ์ และความรู้สึกเหล่านั้น มีส่วนดีที่อาจส่งผลให้ลูกค้า ตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการของคุณได้เช่นกัน เพราะถ้าหากคุณทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกดีกับแบรนด์ของคุณได้แล้ว คุณก็ไม่จำเป็นต้องแข่งขันด้านราคา หรือทำโฆษณาจูงใจ เพื่อเรียกลูกค้าใหม่ด้วยเงินจำนวนมากค่ะ

การใส่ใจกับอารมณ์ความรู้สึกของลูกค้า ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในหลักของการทำ CRM เช่นกัน เพราะอารมณ์ของลูกค้า อาจเป็นสิ่งชี้ชะตายอดขายของคุณก็ได้ค่ะ ในวันนี้ ReadyPlanet จึงได้นำเอา 10 อารมณ์ และความรู้สึก ที่แบรนด์ควรจะทำให้ผู้บริโภครู้สึกให้ได้ มาฝากกัน ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น ติดตามได้ที่คอลัมน์นี้เลยค่ะ

 

1. เชื่อใจ

ความเชื่อใจ ถือเป็นพื้นฐานของความรู้สึกที่จะส่งผลให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ ความเชื่อใจเกิดจากการที่ลูกค้าเชื่อถือในตัวธุรกิจ หากคุณทำให้ธุรกิจน่าเชื่อถือ เช่น มีเว็บไซต์ที่บ่งบอกตัวตนของธุรกิจ มีที่ตั้งบริษัท หรือมีผลงานที่ผ่านมาให้เห็นในเว็บไซต์ชัดเจน และเมื่อลูกค้าคลิกเข้ามาในเว็บไซต์ ก็จะเกิดความไว้วางใจ ที่จะใช้สินค้าหรือบริการของคุณแล้วค่ะ

2. มีอำนาจตัดสินใจและต่อรอง

ลูกค้าหลายคนต้องการที่จะรู้สึกว่า พวกเขามีอำนาจเหนือกว่าในการที่จะต่อรองกับแบรนด์ ในยามที่ตัดสินใจซื้อสินค้า หรือบริการกับคุณ ดังนั้น เมื่อคุณต้องตกลงกับลูกค้าเหล่านี้ คุณอาจต้องมีตัวเลือกหลายๆตัวเลือก เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่าได้ตัดสินใจซื้อสินค้า หรือบริการนั้นๆด้วยตัวของพวกเขาเองค่ะ

3. สับสน

ความรู้สึกสับสน อาจฟังดูเหมือนจะให้ผลลบกับธุรกิจ แต่มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไปค่ะ เพราะหากลูกค้าเกิดความสับสน ไม่ว่าจะสับสนในวิธีการใช้สินค้า หรือสรรพคุณของสินค้าประเภทเดียวกับแบรนด์คุณ แล้วคุณสามารถแก้ไขความสับสนเหล่านั้น ด้วยการอธิบายผลิตภัณฑ์ที่เข้าใจง่าย และใช้ได้ง่ายมากกว่าคู่แข่ง เท่านี้ คุณก็ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า และสามารถเพิ่มยอดขายได้ด้วยค่ะ

4. มีแรงบันดาลใจ

ข้อนี้สำคัญมากเลยค่ะ เพราะแรงบันดาลใจเปรียบเสมือนตัวขับเคลื่อนที่สำคัญให้กับชีวิตของมนุษย์อย่างเราๆ ถ้าหากคุณสามารถทำให้ลูกค้าเกิดแรงบันดาลใจได้ ด้วยการเลือกใช้ Content Marketing เป็นเครื่องมือทำการตลาด และหากคอนเทนต์ของคุณตรงกับสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายต้องการ พวกเขาก็จะรับรู้ จดจำ และติดตามแบรนด์ของคุณ และหากพวกเขาต้องการสินค้าหรือบริการที่ใกล้เคียงกับคุณ พวกเขาก็จะนึกถึงแบรนด์คุณเป็นอันดับแรกๆค่ะ

5. ตื่นเต้น

ความตื่นเต้น คืออารมณ์ที่สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความตื่นเต้นมักเกิดขึ้นในเวลาที่ลูกค้ากำลังจะได้สิ่งที่พวกเขาต้องการ ซึ่งคุณสามารถทำให้พวกเขารู้สึกตื่นเต้นได้ ผ่านการทำโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นการทำ Video Content กระตุ้นความสนใจ หรือเขียนคอนเทนต์รีวิวสินค้าผ่านบล็อก หรือเว็บไซต์ของคุณเองเพื่อจูงใจให้พวกเขาเกิดความต้องการ อย่าลืมให้ความสำคัญกับภาพให้มากๆ เพราะภาพเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของผู้คนออนไลน์ได้เป็นจำนวนมากค่ะ

6. อิจฉา

คล้ายๆกับความรู้สึกสับสน โดยปกติแล้วความอิจฉาเป็นอารมณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการยอดขาย ความอิจฉาของลูกค้า อาจนำยอดขายมาให้ธุรกิจของคุณค่ะ

ความอิจฉา เกิดจากการเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ หรือความสำเร็จ ระหว่างฝ่ายหนึ่งกับอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งหากคุณสามารถทำให้กลุ่มเป้าหมาย เกิดความรู้สึกอิจฉาลูกค้าปัจจุบันของคุณได้ล่ะก็ คุณก็สามารถจูงใจให้พวกเขาเหล่านั้น หันมาใช้สินค้า หรือบริการของคุณได้เช่นกันค่ะ

7. ความหวัง

ไม่ว่าจะเป็นการเมือง วัฒนธรรม หรือการตลาด ความหวังมักเป็นพลังที่ขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ให้ดำเนินต่อไป และหากธุรกิจของคุณ ต้องการมอบความหวังให้กับผู้ประกอบการ สิ่งที่คุณควรทำก็คือ ศึกษากลุ่มเป้าหมายของคุณเอง ว่าพวกเขามีความคาดหวังในสิ่งใด และคุณจะสามารถตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้อย่างไรบ้าง และดึงเอาจุดนั้นมาใช้ในการทำโฆษณาแบรนด์ของคุณค่ะ

8. บันเทิง สนุกสนาน

จากผลการวิจัยจำนวนนับไม่ถ้วน ระบุว่า การยิ้ม หรือหัวเราะ จะช่วยลดความตึงเครียด และทำให้เกิดความสุข และพวกเขาจะจดจำสิ่งที่ทำให้พวกเขายิ้ม หรือหัวเราะได้ และมองสิ่งนั้นในแง่ดี

หากแบรนด์ของคุณ สามารถสร้างทัศนคติในแง่บวกให้กับผู้บริโภค ผ่านการโฆษณา ที่สอดแทรกมุกตลก หรือข้อความดีๆที่ทำให้พวกเขายิ้มได้ พวกเขาก็จะรับรู้ และจดจำแบรนด์ของคุณได้อย่างดียิ่งขึ้นค่ะ

9. อยากบอกต่อ

เมื่อคุณมีความต้องการที่จะโปรโมทสินค้าหรือบริการ คุณต้องไม่ลืมว่า คุณไม่ได้ขายสินค้าให้กับคนที่ต้องการซื้อสินค้า หรือบริการเพราะต้องการจะใช้งานเองเท่านั้น แต่คุณยังมีโอกาสขายสินค้าหรือบริการให้กับคนที่ต้องการมอบของขวัญ หรือมอบสิ่งดีๆให้กับเพื่อน ครอบครัว และคนที่พวกเขารักก็ได้ค่ะ ดังนั้น หากคุณสร้างการยอมรับให้เกิดกับผู้บริโภคได้แล้ว พวกเขาก็จะบอกต่อสินค้าหรือบริการเหล่านั้น ให้กับคนที่พวกเขารักได้เช่นกัน ซึ่งคุณเองก็จะต้องเตรียมมาตรฐานของสินค้าหรือบริการ ให้รองรับลูกค้าจำนวนมากได้ด้วยค่ะ

10. มีอารมณ์ร่วม

เพราะมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม ทำให้เราเกิดความรู้สึกร่วมกันกับความรู้สึกของพวกเดียวกันอยู่เสมอ เช่น เมื่อคุณดูโฆษณาที่มีเนื้อหาเศร้า หรือซึ้งกินใจ คุณก็จะรู้สึกเศร้า หรือติ้นตันไปด้วย ซึ่งคุณเองก็สามารถทำโฆษณาในลักษณะนั้น เพื่อสร้างการจดจำแก่ผู้บริโภคได้เช่นกันค่ะ

เมื่อผู้บริโภครู้สึกมีอารมณ์ร่วม หรือรู้สึกเห็นด้วยกับสิ่งที่แบรนด์กำลังสื่อสาร พวกเขาจะรู้สึกว่าแบรนด์เป็นเหมือนกับเพื่อนคนหนึ่งที่เข้าใจพวกเขา ซึ่งการที่คุณจะทำโฆษณาลักษณะนั้นได้ คุณต้องศึกษากลุ่มเป้าหมายของคุณให้ดีก่อน ว่าพวกเขามีทัศคติต่อสังคมส่วนใหญ่อย่างไร และแสดงความคิดเห็นที่ไปในทิศทางเดียวกันของแบรนด์คุณออกไปค่ะ

 

 

April 05, 2016
Watsanan Saikam
www.ReadyPlanet.com

สนใจรับฟังข้อมูลบริการ

เว็บไซต์สำเร็จรูป, Online Advertising, Training course